กระท่อม ในประเทศไทย มีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง และบางพื้นที่กล่าวกันต่อมาว่า สามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้ ชาวนานิยมบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด หรือเอาใบมาย่างให้เกรียม และตำผสมกับน้ำพริกรับประทานเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงาน และสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานาน โดยไม่รู้สึกเหนื่อย ชาวมลายู ใช้ใบตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ตลอดจนใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้ และบ่อยครั้งมีการใช้ใบเพื่อควบคุมการติดฝิ่น โดยเฉพาะในประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน
พืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) จัดอยู่ในตระกูล รูเบียซีอี (Rubiaceae) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย มาลายู จนถึงเกาะนิวกินีด้วย ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ
- แตงกวา (ก้านเขียว)
- ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่)
- ก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น
- ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม
- ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) หรือ คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือ เบียก (Biak) ลาวเรียก ไนทุม (Neithum)
- อินโดจีน เรียก โคดาม (Kodam)
ในอดีตจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 มาตรา 7
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa Korth. วงศ์ Rubiaceae
ชื่ออื่นๆ ท่อม อีถ่าง
หัวข้อที่สำคัญ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่า
ผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.แหล่งที่พบ ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุรษาฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของ ประเทศมาเลเซีย
สารสำคัญที่พบ
สารสำคัญที่พบในใบ ประกอบด้วย
- แอลคะลอยด์ทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.5
- ในจำนวนนี้เป็นมิตราไจนีน (Mitragynine) ร้อยละ 0.25
- ที่เหลือเป็น สเปโอไจนีน (Speciogynine) ไพแนนทีน (Paynanthine)
- สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine)
ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคะลอยด์ที่พบแตกต่างกัน ตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว ซึ่งแบ่งตามสูตรโครงสร้างได้สารประกอบ 4 ประเภท คือ
- อินโดลแอลคะลอยด์ (Indole Alkaloids)
- ออกอินโดลแอลคะลอยด์ (Oxindole Alkaloids)
- ฟลาวานอยด์ (Elavanoids)
- กลุ่มอื่น ๆ เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol), แทนนิน (Tannins)
เปิดประวัติในประเทศไทย ถูกขึ้นทะเบียนยาเสพติด เพราะเรื่อง “เก็บภาษี”
หมอขวัญชัย เล่าย้อนที่มาของการขึ้นทะเบียนพืชสมุนไพรชนิดนี้ เป็นยาเสพติดประเภท 5 ว่า เมื่อก่อนชาวบ้านเขาใช้กันมานานแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมไปถึงภาคใต้ของไทย และมีการบรรจุในตำรับยา ปรากฏข้อมูลในแพทย์แผนโบราณของ “ขุนโสภิต บรรณาลักษณ์” (อำพัน กิตติขจร) หรือตำรับยาแพทยศาสตร์สงเคราะห์ โดยเป็นตำราที่ กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง
“พืชสมุนไพรชนิดนี้นิยมมาก สำหรับคนที่ทำงานหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะชาวสวน ชาวไร่ เขาจะรูดเนื้อใบ (ไม่เอาเส้นใบ) ใส่ปากเคี้ยว น้ำในใบของมันที่เคี้ยวออกมาจะไม่มีรสชาติ จืดๆ เคี้ยวเหมือนหมาก พอเคี้ยวจนพอก็คายกากออกมา สรรพคุณจะช่วยให้ทำงานกลางแดด สู้แดดได้ดี ไม่เหนื่อยง่าย ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สดชื่น ถ้าคนเมืองก็เปรียบเสมือนการดื่มกาแฟ ร้านน้ำชาบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ จะมีถาดใส่ไว้ให้บริการด้วย”
รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เผยสาเหตุที่ถูกจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 เพราะ “เก็บภาษีไม่ได้” ใช่ครับ...เพราะเก็บภาษีไม่ได้ และนำมาใช้ผิดวิธีนพ.ขวัญชัย เล่าว่า ในช่วงสมัย ร.8 เข้าใจว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษี เพราะสมัยนั้นมีโรงฝิ่นถูกกฎหมาย รัฐบาลเวลานั้นมีการเก็บอากรฝิ่น เก็บเงินภาษีจากตรงนี้ แต่ตอนหลังประชาชนหันมาใช้แทนฝิ่น เพราะไม่อยากซื้อฝิ่นในราคาแพง ก็เลยกลายเป็นยาเสพติด ประเภท 5
“เหตุผลต่างๆ มีหลายส่วน รวมถึงเรื่องการเก็บภาษี ประกอบกับ การนำมาใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปทำ 4 คูณ 100 ของกลุ่มวัยรุ่น โดยใช้น้ำต้มของใบเป็นส่วนผสม และอื่นๆ ทำให้เกิดอาการมึนเมา ซึ่งแท้จริงแล้ว ใบของพืชสมุนไพรชนิดนี้ ไม่ได้มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา แต่แค่กระตุ้น เมื่อเอามาใช้เป็น 4 คูณ 100 ทำให้มึนเมา และกระตุ้น เรียกว่าเมาจนสามารถเต้นได้ทั้งคืน การนำมาใช้ในทางที่ผิด รวมถึงกัญชาเป็นสิ่งเสพติด และกลายเป็นผู้ร้ายในที่สุด”
สรรพคุณ แก้ท้องร่วง เบาหวาน ปวดเมื่อย ไอ นอนไม่หลับ ฯลฯ
นพ.ขวัญชัย ระบุสรรพคุณที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า หลักๆ คือ ใช้ในการแก้ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้อักเสบ รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ในสมัยโบราณ ยังเอามาใช้สำหรับการอดฝิ่น แก้อาการ “ลงแดง”
สำหรับงานวิจัยมีชัดเจนว่าใช้สำหรับอาการแก้ปวด โดยเฉพาะสาร “ไมทราไจนีน” (Mitragynine) สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คล้ายกับกาแฟที่ใช้กระตุ้น ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า หมอพื้นบ้านจะนำมาใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ไว้ใช้แก้โรคต่างๆ
จากข้อมูลเอกสารวิชาการ : การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ชุมชน และงานวิจัย เพื่อกำหนดนโยบายการแก้ไข ของประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2562 โดยอ้างอิงจากรายงานวิจัย ในปี 2548 เกี่ยวกับภูมิปัญญาการใช้ของหมอพื้นบ้าน แถบ 14 จังหวัดภาคใต้ ในการรักษาโรคมาอย่างน้อย 10 ปี
โดย 5 อันดับ หมอพื้นบ้านใช้ พืชกระท่อมเป็นยารักษาโรค คือ
- โรคท้องร่วง ร้อยละ 67.4
- โรคเบาหวาน ร้อยละ 63.3
- โรคปวดเมื่อย ร้อนละ 32.7
- แก้ไอ ร้อยละ 26.5
- ขับพยาธิ แก้ปวดท้อง นอนไม่หลับ ร้อยละ 14
ตามลำดับ ใบ และเปลือก เป็นส่วนเครื่องยาที่เลือกใช้โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
- การใช้รักษาอาการท้องร่วง ปวดท้อง
- เคี้ยวใบให้ละเอียด ดื่มน้ําตาม
- ต้มใบกับเกลือ น้ําตาลทรายแดง กินแก้ปวดท้อง
- เปลือกของลำต้น เปลือกต้นสะเดา เปลือกต้นมะขาม หนักอย่างละ 50 กรัม หัวขมิ้นชัน (แก่) หัวกระทือ (แก่) อย่างละ 1 หัว เผาไฟพอสุก ต้มรวมกับน้ําปูนใส น้ํา ธรรมดาอย่างละเท่าๆ กัน รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนแกง เมื่อหายจึงหยุด
- รักษาโรคเบาหวาน
- ใช้กระท่อมทั้ง 5 (ใบ กิ่ง เปลือกต้น รากเนื้อไม้ หรือใช้ต้นเล็ก สูงประมาณ 1 ศอก 1 ต้น) สับใส่หม้อตามวิธี รับประทานครั้งละ 3-5 ซ้อนแกง เช้า-เย็น
- เคี้ยวใบ วันละ 1 ใบ นาน 41 วัน
- ต้มใบรวมกับ หญ้าหนวดแมว ไม้ค้อนตีนหมา อย่างละเท่ากัน ต้มน้ํา 3 เอา 1 ดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เช้า-เย็น
- ใช้ใบผสมกับ อินทนินน้ํา กระเทียมต้น กระเทียมเถา ต้มน้ําดื่ม
- แก้ปวดเมื่อย
- เถาวัลย์เปรียง มะคําไก่ มะแว้งต้น มะแว้งเครือ เถาโคคลาน เถาสังวาล พระอินทร์ หญ้าหนู ต้นผักเสี้ยนผี แก่นขี้เหล็ก ใบมะกา อย่างละ 1 ส่วน เนื้อในฝัก ราชพฤกษ์ 5 ฝัก ใบกระท่อม 2 ส่วน เถากําแพงเจ็ดชั้น 3 ส่วน ต้มตามวิธี ใช้รับประทาน ก่อนอาหาร เช้า-เย็น ครั้งละ ครึ่ง-1 ถ้วยกาแฟ
- แก้ไอ
- ใช้ใบสด 1-2 ใบ ต้มกับน้ําตาลทรายแดง ดื่มแก้ไอ หรือเคี้ยวใบสด คายกาก และดื่มน้ําตามมากๆ
- ขับพยาธิ
- ใช้ใบสดขยี้กับปูน (กินหมาก) ทาท้อง ฯลฯ
หมอพื้นบ้าน ทราบดีว่าการเคี้ยว ใบของพืชสมุนไพรชนิดนี้ทําให้ท้องผูก และวิธีการแก้ไขอาการข้างเคียงนี้คือการใช้ร่วมกับสมุนไพรที่มีคุณสมบัติระบายท้อง เช่น ชุมเห็ดเทศ เป็นต้น ส่วนอาการมึนศีรษะ หลังเคี้ยวก็แนะนําให้ดื่มน้ํามากๆ
สำหรับตำรับยาดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ระบุในงานวิจัยชุดนี้ โดย นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า เท่าที่ไปคุยกับหมอพื้นบ้าน ทราบว่า พืชสมุนไพรชนิดนี้ใช้ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ ราก ต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก และผล สามารถนำมาปรุงยาได้หมด แต่นี่คือตำรับของหมอพื้นบ้าน แต่...หากเป็นตำราหลวง เราจะใช้ใบเป็นหลัก สาเหตุเพราะใบมีสาร “ไมทราไจนีน” อยู่มาก ส่วนการจะใช้มากน้อยขนาดไหน คงขึ้นอยู่กับผลแล็บ ต้องไปหาคำตอบให้ชัดเจน
“ข้อมูลจากหมอพื้นบ้านเชื่อว่า สารนี้จะออกมาจากการต้ม อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการทดลอง เช่น การหมักในแอลกอฮอล์ หรือสกัดด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อเอาสาร “ไมทราไจนีน” ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลการวิจัย ส่วนสาเหตุที่มีการวิจัยเรื่องนี้ไม่มาก เพราะที่ผ่านมา มันกลายเป็น “ยาเสพติด” จึงทำให้ไม่มีใครกล้าจะนำมาวิจัย เพราะกลัวผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดีหากไปครอบครองโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีทาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ก็มีการศึกษาอยู่พอสมควร”
สำหรับ ข้อเสีย...นพ.ขวัญชัย เชื่อว่าไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง เพราะการใช้ใบก็เหมือนกับกาแฟ กินมากไม่ดี แต่ถามว่ามีข้อเสียร้ายแรงหรือไม่...ถึงเวลานี้ ยังไม่เคยได้ยิน เมื่อถามว่า ผลข้างเคียงจะรุนแรงถึงขั้นนอนไม่หลับ หรือหัวใจเต้นเร็ว เลยไหม นพ.ขวัญชัย บอกว่า ถ้าขนาดนั้นก็แสดงว่ากินเกินขนาด ถ้ากินกันตามปกติ จะไม่ถึงขนาดนั้น ฤทธิ์มันก็เหมือนกาแฟ แต่คำเตือนที่ชาวบ้านบอกกันรุ่นสู่รุ่น คือ “ห้ามกลืน” เมื่อเคี้ยวเสร็จต้องคายทิ้ง เพราะเส้นใยของใบจะเหนียวมาก ถ้าใครกลืนเข้าไปมากๆ มันอาจจะไปจับตัวเป็นก้อน ก่อให้เกิด “ลำไส้อุดตัน” นอกจากนี้ ก็คือการเลือกใช้ให้ถูกวิธี อย่าเอาไปทำอะไรผิดๆ เช่น ไปทำเครื่องดื่ม 4 คูณ 100
อนาคตจะเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือกลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง
รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่าถ้าปลูกในพื้นที่ภาคใต้จะได้คุณภาพดี เพราะฝนตกชุก เพราะเป็นพืชที่ชอบน้ำ ส่วนที่ใช้ภาคเหนือ...ต้องดูดีๆ เพราะที่นั่นเขาจะเรียกว่า “กระทุ่ม”
“ตอนนี้เราทราบว่า มีนักธุรกิจหลายรายสนใจพืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นอย่างมาก เราเองได้ประสานกับ มอ. เพื่อจะมาให้ข้อมูลการวิจัยมาให้ความรู้ ซึ่งเราจะจัดงานเร็วๆ นี้ และนักธุรกิจเหล่านี้ก็สนใจ และเชื่อว่า เร็วๆ นี้ อาจจะมีผลิตภัณฑ์ Energy Drink ออกมาเร็วๆ นี้ เหมือนกาแฟ กระป๋อง ก็เป็นน้ำบรรจุกระป๋อง ทางกรมฯ เอง ก็อาจจะช่วยให้ความรู้ รวมถึงร่วมประเมินเรื่องความปลอดภัย ให้นำไปใช้อย่างถูกต้อง และไม่เกิดผลข้างเคียง และเสียหายภายหลัง
เชื่อว่าในอนาคต อาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่อาจช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิดได้ ส่วนตัวก็หวังว่า จะสามารถทดแทนยาบ้า (สมัยก่อนเป็นยาม้า ที่กินเพื่อให้ทนทำงานหนักได้) จะมีส่วนช่วยในบำบัดรักษาการติดยาเสพติด ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทาง ป.ป.ส. ประสานทางกรมให้มาช่วย ที่สำคัญ จากตำรับยาดั้งเดิม ก็เป็นตัวยาหนึ่งที่ใช้อดฝิ่น นอกจากนี้ยังมีกัญชา รวมทั้งยางฝิ่นด้วย ซึ่งยาในตำรับไทย มักจะใช้แบบ “พิษแก้พิษ”
ฉะนั้น การเอายาเสพติด มารักษาการติดยาเสพติด ก็คล้ายกับการแพทย์ยุคใหม่ที่ใช้ เมทาโดน (methadone) ซึ่งก็คือ ยาเสพติด มาใช้ในการรักษาการติดเฮโรอีน ซึ่งใช้อย่างมีประโยชน์มันก็จะได้ประโยชน์ โดยอาจจะค่อยๆ ลดขนาดลง เพื่อ “ถอน”
การบริโภคในต่างประเทศ
องค์การสหประชาชาติ ไม่ได้ประกาศควบคุมพืชสมุนไพรชนิดนี้ ในบัญชีรายชื่อยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่จากสำนักงานควบคุมยาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ของสารออกฤทธิ์ ซึ่งมีพืชสมุนไพรชนิดนี้รวมอยู่ด้วย ขณะที่บางประเทศ เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน นิวซีแลนด์จัดให้ สารไมทราไจนีน และสาร 7-hydroxymitragynine เป็นยาควบคุม
แต่ก็มีหลายประเทศที่อนุญาต ให้ซื้อขายและส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น อินโดนีเซีย ในอังกฤษมีการขายทั้งใบสด ใบแห้ง ผง และสารสกัด ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
ชาวนากาฬสินธุ์หันปลูกส่งศูนย์รับซื้อ ตั้งเป้าล้านต้น สร้างอาชีพแก้จน
ชาวตำบลหลุบ จ.กาฬสินธุ์ พลิกผืนนามาปลูกกระท่อม พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ คาดดีกว่าปลูกข้าว เหตุมีบริษัทเอกชนส่งเสริมปลูกพร้อมประกันราคา มีศูนย์รับซื้อใบสดกิโลฯ ละ 200 บาท เบื้องต้นปลูก 100,000 ต้น ตั้งเป้าปลูกให้ถึง 1,000,000 ต้น สร้างอาชีพมั่นคงแก้ปัญหาความจนยั่งยืน
วันนี้ (23 ม.ค. 65) ที่แปลงนานายบันลือศักดิ์ ลือศรัทธา อดีตกำนันตำบลหลุบ บ้านคอนเรียบ ต.หลุบ อ.เมืองกาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิด "ไร่กระท่อมโกลเด้น" และปลูกบนเนื้อที่ 10 ไร่ มีนายชัยพิภพ โยธะชัย เกษตรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์, นายไก่ทอง ไกรมงคล นายกเทศมนตรีตำบลหลุบ, นายภักดี ภูมีแหลม กำนันตำบลหลุบ, นางกวิตา ลือศรัทธา ผู้บริหารพร้อมด้วยเกษตรกรในพื้นที่ร่วมงาน
นางกวิตา ลือศรัทธา ผู้บริหารกล่าวว่า เดิมพื้นที่ 10 ไร่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ปลูกทั้งข้าวนาปีและนาปรัง แต่เนื่องจากต้นทุนทำนาสูงและราคาขายข้าวเปลือกไม่แน่นอน กอปรกับรัฐบาลปลดล็อกพืชกระท่อมให้เกษตรกรสามารถปลูกได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งใบกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้หลายผลิตภัณฑ์ ตนและญาติสนใจที่จะพลิกผืนนานี้ จึงสมัครเป็นสมาชิกกับบริษัทเอกชน เพื่อปลูกและเขาพร้อมจำหน่ายต้นกล้า ซึ่งมีทั้งต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด และเสียบยอด
อนาคตไร่กระท่อมโกลเด้นแห่งนี้ จะเป็นศูนย์รับซื้อใบสดจากเกษตรกรด้วย วันนี้นอกจากจะเปิดไร่ 1 แสนต้นแล้ว ยังเปิดรับสมัครสมาชิกปลูก หรือลูกไร่ด้วย โดยตั้งเป้าปลูกให้ได้ 1 ล้านต้น จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรผู้สนใจอยากเปลี่ยนอาชีพใหม่ หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ชนิดนี้ เนื่องจากมีประกันราคารับซื้อชัดเจน โดยใบสดรับซื้อกิโลกรัมละ 200 บาท สัญญาซื้อขาย 5 ปี รับรองเป็นพืชที่มีอนาคต ดีกว่าปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นแน่นอน เพราะลงทุนครั้งเดียว แต่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 20-30 ปี
ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การปลดล็อกโดยรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีกฎหมายรองรับให้ปลูกได้อย่างกว้างขวางกว่ากัญชา และสามารถปลูกได้อย่างเสรี ทางการแพทย์สารในใบสดยังสามารถสกัด เป็นตัวยารักษาโรคบางชนิดได้ นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่สามารถขยายผล ต่อยอด มีอายุยืนถึง 50 ปี ปลูกแล้วเกิดผลดีในเชิงเศรษฐกิจและรักษาโรค เมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้น ก็จะมีรายได้ แก้ปัญหาความยากจน
ปัจจุบันนี้หลังจากรัฐบาลปลดล็อก จึงสามารถปลูกได้ทั่วไป ส่วนของการเปิดไร่ และร่วมกันปลูกในครั้งนี้ เป็นการเปิดมิติใหม่ของการปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือก ซึ่งเป็นพืชที่รัฐบาลสนับสนุน และเอกชนหลายรายเข้ามาให้การส่งเสริม โดยเปิดจุดรับซื้อและมีประกันราคา เป็นพืชที่มีอนาคต ดังนั้นเกษตรกรผู้สนใจสามารถปลูกได้ ขายได้ ปลูกแล้วได้เงิน คาดว่าสร้างอาชีพที่มั่นคง แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน
พร้อมรับซื้อแปรรูปส่งออกต่างประเทศ
วันที่ 12 กันยายน 2564 นายสุเทพ เสงี่ยมศักดิ์ (หมอเทพ) นายกสมาคมผู้ปลูกพืชทางเลือกใหม่เพื่อการเรียนรู้และการค้าไทย , นายสรศักดิ์ มีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไทย พลัส เทคโนโลยี จำกัด , นายอภิภู พีรภูรินท์ ประธานกรรมการบริษัทยิ้มหวาน อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด , นายสุรศักดิ์ ศิริบุญ ประธานกรรมการบริษัทเพื่อนกัญ 2021 จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการปลูก 1 ล้านต้น เพื่อการบูรณาการแบบครบวงจร ที่บริษัท ไทย พลัส เทคโนโลยี จำกัด เลขที่ 77 หมู่ 3 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี
ตามที่รัฐบาลได้ปลดออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ให้มีผลตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2564 นั้น จึงทำให้ ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบ ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่นๆ เช่น 4 x 100 เป็นความผิดตามกฎหมาย
สำหรับการนำเข้า หรือส่งออกไปต่างประเทศในเชิงอุตสาหกรรมนั้น ต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ และมีโอกาสพลิกชีวิต ให้กับเกษตรกร และสื่งที่สำคัญ คือการตลาด ว่าจะนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ไหนได้อย่างมั่นคง และมีรายได้สม่ำเสมอ จึงได้เกิดการจัดทำโครงการปลูก 1 ล้านต้น โดยสมาคม ร่วมกับ 3 บริษัท เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการแบบครบวงจร โดยมีข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้
- บริษัท ยิ้มหวาน อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด ทำหน้าที่ เพาะปลูกต้นกล้า สายพันธุ์ก้านแดง โดยแยกเป็น แบบเพาะเมล็ด สูง 20 เซนติเมตร ขึ้นไป และ แบบเสียบยอดมีความสูง 30 เชนติเมตรขึ้นไป รับประกัน 1 เดือนหลังส่งต้นกล้าให้ผู้ปลูก
* นายอภิภู พีรภูรินท์ ประธานกรรมการ บริษัท ยิ้มหวาน อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการปลูก 1 ล้านต้น เกิดขึ้นเพื่อให้เกษตรได้มีโอกาสปลูกพืชพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เราจึงพลักดันในเรื่องของการปลูก การแปรรูป และการจำหน่วยในอนาคต ปัจจุบันเริ่มปลูกแล้วที่จังหวัดปราจีนบุรีและจะกระจายไปทางด้านตะวันออก ภาคอีสานรวมถึงภาคเหนือ - บริษัท เพื่อนกัญ 2021 จำกัด ทำหน้าที่จำหน่ายต้นพันธุ์ ที่ได้รับและตรวจสอบเพื่อส่งต่อให้เกษตรกรผู้ปลูก รวมถึง การจำหน่ายสินค้าแปรรูปเมื่อกฎหมายอนุญาต
- บริษัท ไทย พลัส เทคโนโลยี จำกัด ทำสัญญารับซื้อใบสดจากเกษตรกรเพื่อแปรรูปสินค้าเมื่อกฎหมายอนุญาต
* นายสรศักดิ์ มีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไทย พลัส เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานต้นแบบ เป็นโมเดลในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรชนิดนี้ โดยโรงงานที่จะผลิตจริงอยู่บนพื้นที่ 20 ไร่ หากเกษตรปลูกจะสามารถสร้างรายได้ระยะยาว สามารถส่งออกไปต่างประเทศ ดังนั้นเราจึงมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม ให้จังหวัดปทุมธานีให้เป็นเมืองหลวงแห่งพืชชนิดนี้ - สมาคมผู้ปลูกพืชทางเลือกใหม่เพื่อการเรียนรู้และการค้าไทย(สปกท.) ทำหน้าที่ในด้านประชาสัมพันธ์ คัดเลือกตัวแทนจำหน่ายต้นพันธุ์ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูก เป็นคนกลางในการเจรจา ตรวจสอบ ช่วยเหลือ
* นายสุเทพ เสงี่ยมศักดิ์ นายกสมาคมผู้ปลูกพืชทางเลือกใหม่เพื่อการเรียนรู้ และการค้าไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯได้ดำเนินการในเรื่องของการปลูกกัญชา กัญชง และพืชกระท่อม ที่ผ่านมาเราเริ่มในเรื่องของกัญชาและกัญชงมาระยะหนึ่งแล้ว พึ่งจะมีกฎหมายออกมาประชาชนจึงตื่นตัวกันมาก การดำเนินการก็ง่ายกว่ากัญชากัญชงมาก เราจึงเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรปลูกกระท่อมกันในโครงการปลูก 1 ล้านต้น เพื่อให้เกษตรได้รับผลประโยชน์มีรายได้พลิกชีวิตได้เลย
นอกจากนี้ยังโชว์เครื่องจักรแปรรูปพืชกัญชา กัญชง และสารสกัดจากพืชสมุนไพร ได้แก่เครื่องสกัดสารพืช เครื่องแพ็คสุญญากาศ และมีผลิตภัณฑ์พืชกัญชา ได้แก่ โกโก้สำเร็จรูปผสมใบกัญชาผง กาแฟสำเร็จรูปผสมใบกัญชาผง นำมันนวดกัญชา และสะดิ้งทอดผสมผงกัญชา เพื่อให้เกษตรมั่นใจว่าปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถสร้างรายได้แน่นอน
ในส่วนของราคาการรับซื้อ เราจะมีสัญญารับซื้อระยะเวลา 5 ปี โดยแบ่งการซื้อเป็น 3 เกรด A B C ราคา 50 – 200 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องราคาจะมีขึ้นลง เนื่องจากช่วงนี้ราคาสูง แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้ราคาจะลงแล้ว เมื่อครบ 5 ปีแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อรับซื้อในราคาที่เหมาะสมในช่วงนั้น ๆ ฝากถึงประชาชนและเกษตรกรทั่วไปที่สนใจทุกท่านเข้าร่วมโครงการปลูก 1 ล้านต้น เรามีระบบทุกอย่างที่สมบูรณ์ครบวงจร เพื่อรอกฎหมายอนุญาตให้แปรรูปเพื่อจำหน่าย
DOD ลุยผลิต-สกัดกระท่อม พร้อมส่งออกตลาดทั่วโลก
นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD เปิดเผยว่า จากประกาศ พ.ร.บ. ยกเลิก “พืชกระท่อม” พ้นจากยาเสพติดนั้น บริษัทมีความสนใจที่จะทำผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมให้แก่ลูกค้า ซึ่งถือเป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยเศรษกิจได้มาก ขณะที่สมุนไพรดังกล่าวมีการนำมาสกัดที่สำคัญเป็นอาหารเสริม และเครื่องดื่ม
สบช่องส่งออก
ทั้งนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญไปที่การส่งออกด้วยเช่นกัน ซึ่งทั่วโลกมีความสนใจ โดยเฉพาะตลาดฝั่งตะวันตกซึ่งมีความนิยมเป็นจำนวนมาก จึงคาดว่าในอนาคตจะพัฒนาต่อยอด ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสมุนไพรชนิดนี้ จนสามารถส่งออกไปในตลาดต่างประเทศ ทั่วโลกได้
“เรามีความสนใจสมุนไพรชนิดนี้อยู่แล้ว ถือเป็นโอกาส และเป็นแผนของเราไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดในรูปของตลาดอาหารเสริม ที่ทั่วโลกมีความสนใจและนิยมกันมาก โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก และสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเอาผงมาทำเป็นแคปซูล ถ้าเราสามารถทำได้มาตรฐาน คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ในอนาคต แต่ทุกอย่างต้องรอขั้นตอนการขอใบอนุญาตจาก อย.” นายธนิน กล่าว
สำหรับในส่วนของโรงสกัด คาดว่าจะสามารถใช้ร่วมกับโรงสกัดกัญชงได้ เนื่องจากโรงสกัดของบริษัทมีมาตรฐานในระดับสูง ซึ่งความคืบหน้าการจัดตั้งโรงสกัดนั้น ล่าสุด ทางอย.ได้พิจารณาอนุมัติคำขอแบบแสดงโรงสกัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหาก อย.เปิดให้มีการยื่นขอใบอนุญาต บริษัท สยาม เฮอเบล เทค จำกัด ก็มีความพร้อมยื่นใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD ในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชง ได้ทันที
คืบหน้าลุยกัญชง
ส่วนความคืบหน้าการผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงนั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้ภายในปลายไตรมาส 3/64 หรือต้นไตรมาส 4/64 โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาสูตรร่วมกับลูกค้าใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้วตามแผนที่บริษัทกำหนดไว้
อย่างไรก็ตามหากบริษัทสามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงได้แล้ว จะเป็นการให้เห็นถึงความพร้อมของศักยภาพ ความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำของกลุ่มบริษัท DOD ในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางและสกินแคร์ ที่มีสารสกัดจากกัญชงที่ครบวงจรแบบ One Stop Service Solution ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในระดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นรายแรกในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพียงรายเดียว ที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงต่างประเทศ จาก อย.
นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเพิ่มอีกว่า ล่าสุดมีคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) รายใหญ่ รวมถึงกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน ติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชง รวมถึงการปลูก เพื่อเสนอขายให้กับบริษัท เป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)ในเร็วๆ นี้ จากก่อนหน้านี้ บริษัทได้มี MOU ความร่วมมือการส่งเสริมการปลูกกัญชงในเชิงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร กับ บริษัท แพล้นโทโลยี จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ ผลิต นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และยังเป็น 1 ใน 7 บริษัท ที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ กัญชง จาก อย. เป็นกลุ่มแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พืชกระท่อมมาแรง ชาวบ้านปลูกกล้าไว้นับแสนต้นไม่มีคนซื้อ ยอมให้ผู้สนใจนำไปปลูก
หลังจากมีการปลดล็อคออกจากยาเสพติด ทำให้กระแสพืชกระท่อมมาแรง เนื่องจากความนิยมนำไปรับประทานมีจำนวนมาก จนเกิดกระแสการเพาะพันธุ์ต้นกล้าส่งขาย เพื่อหวังสร้างรายได้เพราะมองว่าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่สร้างรายได้
นายอูเซ็น สูลสละ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่ 6 ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า 3 เดือนที่ผ่านมา กระแสการปลูกสมุนไพรชนิดนี้มาแรง มีนายทุนต้องการจำนวนมาก เข้ามาติดต่อหาต้นกล้าในพื้นที่ โดยเสนอราคาให้ต้นละไม่ต่ำกว่า 30 บาท ต้องการเป็นหลักแสนต้น ตนจึงศึกษาและลงมือเพาะปลูกต้นกล้า หวังสร้างรายได้ให้ตนเอง และครอบครัวในช่วงวิกฤติโควิด-19 จนวันนี้ต้นกล้าอายุ 3 เดือน กว่า 130,000 ต้น ที่กำลังสวยงาม เหมาะแก่การนำไปปลูกลงแปลง โดยต้นกล้าที่พร้อมปลูกนั้น เป็นชนิดก้านแดงหางกั้ง พันธ์ที่นิยมกันมากที่สุด และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยใช้แรงงานคนในพื้นที่ ใกล้บ้านที่ว่างจากการทำงานมาช่วยกันเพาะพันธุ์ต้นกล้า เสียค่าใช้จ่ายค่าแรงงานวันละเกือบ 3,000 บาท ตนเองใช้เงินลงทุนในการเพาะพันธุ์ต้นกล้าไปแล้วกว่า 300,000 บาท แค่แรงงาน ค่าเมล็ดพันธ์ ค่าโรงเรือน และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการเพาะปลูก จนถึงวันนี้ต้นกล้าที่เพาะเอาไว้ยังไม่สามารถจำหน่ายได้เลย ขายได้แต่รายย่อยที่มาซื้อ 10-50 ต้นเท่านั้น
ส่วนนายทุนที่เคยบอกว่ารับหมดเป็นแสนๆ ต้น จนวันนี้ยังไม่เห็นหน้าเลย พรรคพวกที่เพาะต้นกล้าขายใน จ.สตูล หลายแห่งก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด ตอนนี้ต้นกล้าที่เพาะไว้รวมแล้วประมาณ 1 ล้านต้น ตนยังมั่นใจว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้ เพราะตอนนี้ชาวบ้านทั้งใน และต่างจังหวัด พูดกันว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้ขาดตลาด ทำให้ราคาขยับขึ้นถึงกิโลกรัมละ 500 บาท จึงมีความคิดว่า หากมีชาวบ้านหรือเกษตรกรท่านใดต้องการที่จะปลูก มีที่ดินแต่ไม่มีต้นกล้า ทางตนเองยินดีมอบต้นกล้าให้ไปปลูกก่อน โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงิน ค่าต้นกล้า จะเก็บค่าต้นกล้าคืนก็ต่อเมื่อปลูกแล้วได้ผลผลิตออกขายอย่างชัดเจน และจะต้องขายคืนกับตนเองเท่านั้น และเพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบ การซื้อขายราคาก็จะรับซื้อตามราคาของท้องตลาดทั่วไป หากมีใครต้องการสอบถามข้อมูลติดต่อ ได้ที่ 0887960449
ตลาดในปัจจุบัน
ตลาดต่างประเทศ
ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้เพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า, บำบัดยาเสพติด, เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืขสมุนไพรชนิดนี้มีจำหน่ายในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เช่น อาหารเสริม ยาดม ชา เป็นต้น ขณะที่ ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่บอกว่าเมล็ดมาจากประเทศไทย รวมถึงแบรนด์ก็ใช้ชื่อไทย อย่างเช่น แบรนด์ แมงดา ที่ทำรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี
ตลาดในประเทศ
พืขสมุนไพรชนิดนี้ในปัจจุบัน นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เซียงเพียวอิ๊ว ที่จะผลิตเป็น ยาดมใบกระท่อม, สมูทอี ที่จะผลิตเป็นครีมชูกำลัง รวมถึงบริษัทเครื่องดื่ม ที่จะผลิตน้ำดื่มชูกำลัง และบริษัทขายตรงอีกรายที่จะผลิตสินค้าเกี่ยวกับพืขสมุนไพรชนิดนี้ เป็นต้น โดยรูปแบบการทำธุรกิจจะเป็นแบบ B2B เพราะเน้นเป็นธุรกิจอาหาร ซึ่งจากการรุกตลาดครั้งนี้เชื่อว่าในปี 2565 บริษัทจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50%
พืขสมุนไพรชนิดนี้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นการต่อยอดเสริมไปสู่กลุ่มสินค้าประเภทต่าง ๆ เช่น หากเข้าไปเสริมในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง เพียงแค่ 25% ก็มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทแล้ว แต่หากคิดเฉพาะต้นน้ำจริง ๆ ปัจจุบันเรา เว็บไซต์ ไร่กระท่อม.com ร่วมกับ ชมรมภาคเครือข่ายเพื่อพัฒนาชุมชน (ชพช.) รับซื้อใบที่กิโลกรัมละ 150 บาท รับประกันราคา นานสูงสุด 10 ปี ซึ่งเรามีอยู่แล้ว 150 ตัน และหลังจาก ปลดล็อกพืชไปแล้ว เชื่อว่าในปี 2565 คาดว่าจะมีพืชใบไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท โดยทาง เว็บไซต์ ไร่กระท่อม.com ร่วมกับ ชมรมภาคเครือข่ายเพื่อพัฒนาชุมชน (ชพช.) พร้อมรับซื้ออย่างต่อเนื่อง และพร้อมเป็นตัวแทนจากพันธมิตร ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ ไปยังสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เนื่องจากมีช่องทางจำหน่ายอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา
ลดต้นทุน การผลิตยาแก้ปวดจากมอร์ฟีน มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 5 แสนล้านบาท/ปี โดยพืขสมุนไพรชนิดนี้มีสารระงับปวด เช่นเดียวกับมอร์ฟีนแต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า
การขยายพันธุ์ และการปลูก
วิธีการปลูกด้วยเมล็ด
การปลูกด้วยเมล็ดที่ทำได้รวดเร็ว และสะดวกที่สุดจะเป็นการปลูกระบบปิด โดยใช้อุปกรณ์ถุงพลาสติก หรือวัสดุครอบพาชนะปลูก เพื่อควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ และลดการระเหยออกของน้ำ วิธีนี้จะช่วยให้เมล็ด เจริญเติบโตในระยะเวลาอันรวดเร็ว ประมาณ 5-7 วัน และไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาดังกล่าว
โดยมีขั้นตอนวิธีการปลูกดังนี้
- นำดินปลูกหรือพีทมอสใส่ลงในกระบะหรือกะละมังประมาณครึ่งหนึ่งของพาชนะ
- รดน้ำให้ดินชุ่มหรือเปียกอย่างเห็นได้ชัด
- ค่อยๆ โรยเมล็ดพันธุ์ไปอย่าให้ชิดกัน พยายามกระจายเมล็ดให้มากที่สุด
- นำดินปลูกหรือพีทมอสมาโรยทับด้านบนบางๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่มเปียกอีกครั้ง
- หุ้มกระบะหรือกะละมังปลูกด้วยพลาสติกใสไม่ให้อากาศเข้าได้
- ปิดทิ้งไว้ไม่ต้องรดน้ำ และวางไว้ในที่ร่มเป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน
- เมื่อครบกำหนดแล้วนำออกมารดน้ำเช้า-เย็น
- เมื่อต้นกล้างอกขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้วให้ย้ายไปปลูกในกระถางต่อไป
วิธีการปลูกด้วยกิ่งเสียบยอด กิ่งตอน หรือกิ่งชำราก
การปลูกด้วยกิ่ง เป็นการย่นระยะเวลาการเจริญเติบโต โดยเลือกกิ่งเดี่ยวไม่มีแขนงแยก เร่งรากฝอยให้เจริญเติบโต แล้วนำไปปลูก การด้วยวิธีนี้มีข้อเสีย คือระบบรากจะไม่แข็งแรงเท่าการปลูกด้วยเมล็ด ฉะนั้นในช่วงเวลา 1-2 ปี แรกควรมีการใช้ไม้ค้ำยันเอาไว้ จนกว่ารากหรือลำต้นจะแข็งแรง เป็นการปลูกลักษณะเดียวกับการปลูกไม้ผลทั่วไป แต่การได้มาของกิ่งพันธุ์ แตกต่างกันตามลักษณะ การขยายพันธุ์ของกิ่งปลูก ส่วนวิธีที่นักปลูกนิยมกันที่สุดคือวิธีการเสียบยอด โดยใช้ต้นกระทุ่มนาเป็นต้นตอ เสียบด้วยต้นพันธุ์จากกิ่งพันธุ์ที่ต้องการ ก็จะได้ใบที่มีรสชาติและคุณภาพเหมือนต้นแม่ และเติบโตเป็นต้นใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
การชำกิ่ง มีขั้นตอนวิธีการดังนี้
- นำดินปลูก หรือพีทมอสผสมกับน้ำให้พอชุ่ม (แต่ไม่แฉะ) ใส่ในกระป๋อง หรือแก้วพลาสติก เตรียมไว้ตัดกิ่งจากต้น โดยเลือกกิ่งที่เป็นกิ่งเดี่ยว และสมบูรณ์ ควรตัดกิ่งให้มีขนาด ไม่ยาวเกินไปเพื่อให้ธาตุอาหารลำเลียงได้เร็วขึ้น
- ใช้น้ำยาเร่งรา ทาบริเวณโคนกิ่งแล้วทิ้งไว้แห้ง หรือ นำกิ่งไว้จุ่มแช่ไว้ประมาณ 20 นาที
- นำกิ่งที่ทายาเร่งรากแล้วปักลงไปในดินที่เตรียมไว้ (หาไม้แทงดินลงไปก่อนปัก)
- นำถุงพลาสติกใสมาครอบแล้วมัดให้แน่นเพื่อไม่ให้อากาศถ่ายเท
- ตั้งไว้ที่มีแสงแดด แต่ไม่จัดเกินไป
- เมื่อรากเดินเต็มที่ให้นำไปปลูกลงดินต่อไป
เคล็ดลับ : หากกิ่งที่นำมาปักชำ มีขนาดใบใหญ่เกินไป ให้ทำการตัดใบให้เหลือครึ่งหนึ่ง เพื่อลดการคายน้ำ และเพิ่มอัตรารอดในการปักชำ
การปลูกสามารถได้ในดินทุกประเภท และทนต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง แต่อาจจะได้ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพดีเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่มีอินทรียสารสูง หรือดินเหนียวที่มีน้ำ และความชุ่มชื้นในดินสูง พื้นที่โดยรอบมีน้ำมากตลอดทั้งปี ทนต่อน้ำท่วมขัง และมักนิยมปลูกในบริเวณพื้นที่ริมน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ชายคลอง หรือริมบึง หากต้องการปลูกเพื่อจำหน่าย และเก็บผลผลิตจำเป็นต้องมีการจัดการน้ำ ที่สม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
พืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน และไม่ชอบร่มเงาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ที่มาบังเรือนยอด ในธรรมชาติหากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอจะแทงยอดพุ่งขึ้นสู งและไม่แผ่กิ่งก้าน ทำให้ปริมาณใบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ใบมีขนาดที่ใหญ่บางขนาดฝ่ามือสีเขียวเข้ม และมีโรคพืชรบกวน รวมถึงอาจได้รสชาติ และสรรพคุณไม่ได้ตามที่ผู้บริโภคต้องการ หากได้รับแสงแดดเพียงพอ จะแผ่กิ่งก้านไปทั่วทุกด้าน โดยมักจะออกกิ่งทีละคู่แทงออกจากลำต้นคนละด้านกัน สลับทิศกันกับกิ่งคู่ต่อไป ดังนั้นจะเห็นว่าเรือนยอดของต้นมีกิ่งที่แผ่ออกจากลำต้นออกไปทั้งสี่ด้านเท่าๆกัน ทำให้ปริมาณใบมีมากขึ้นตามไปด้วย
- ระยะการปลูก ควรปลูกระยะ 4×4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 100 ต้น
- ดินและน้ำสำหรับปลูก ดินที่ใช้ปลูกกระท่อมควรเป็นดินร่วนซุย ควรมีน้ำอย่างทั่วถึงและปลูกกลางแจ้งเพื่อลดโรคเชื้อราจุดดำได้ (หรือเอาน้ำปูนขาวละลายรดหรือฉีด)
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเก็บเกี่ยวผลผลิต สามารถทำได้ทันทีที่เริ่มแตกใบ โดยจะเก็บใบคู่แรกที่แตกจากกิ่งแขนงไว้กับต้น และเริ่มเก็บผลผลิตในใบคู่ที่ 2-4 เพื่อให้กิ่งนั้นยังสามารถแตกใบใหม่ได้ หากต้องการปลูกเพื่อเก็บผลผลิตในระยะยาว ควรเก็บใบเพื่อบริโภค 30-40% จากจำนวนใบทั้งหมดเท่านั้น และทิ้งให้ต้นไม้ได้มีโอกาสแตกใบใหม่ โดยเว้นช่วงเก็บเกี่ยวจากรอบแรกถึงรอบถัดไปไว้ ประมาณ 15-30 วัน หมั่นสังเกตการติดดอกออกผล เพราะต้องคอยปลิดดอกออกเสมอ เพราะหากกิ่งใดที่ออกดอกและผลก็จะทิ้งใบและกิ่งตาย ต้นที่สมบูรณ์ควรมีอายุ 5 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวใบได้ต้นละ 1 กิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 15 วัน
โรคและศัตรู
พืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้เองโดยไม่ต้องดูแล ยิ่งหากขึ้นเองในบริเวณที่มีน้ำมาก และแสงแดดเต็มวันจะโตเร็ว และให้ผลผลิตที่ดีมาก แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ชอบปุ๋ยเคมี หากดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์พอ หรือต้องการเร่งผลผลิต สามารถใช้ปุ๋ยคอกโรยที่โคนต้นเพียงอย่างเดียวได้
นอกจากนี้ยังจัดว่าเป็นต้นไม้ที่มีโรค และแมลงรบกวนไม่มาก โดยโรคที่พบคืออาการใบตกกระอันเกิดจากเชื้อราดำ และเชื้อราขาว โดยจะเกิดกับต้นที่ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ และความชื้นสูง ศัตรูพืชสำคัญคือหนอนชนิดต่างๆ เช่น หนอนผีเสื้อหรือบุ้งร่าน คนทั่วไปมักใช้วิธีการกำจัดทีละตัว หรือใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่นให้ทั่ว เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อการบริโภคกว่า แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งควรทิ้งไว้อย่างน้อย 30 วันจึงสามารถเก็บมาบริโภคหรือจำหน่ายได้

อนาคตทางเศรษฐกิจ
หลังจากที่ไทยได้มีการปลดล็อก ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้สร้างกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งในฝั่งของผู้ผลิต (เกษตรกร) และผู้บริโภค นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ได้ จากพืชสมุนไพรชนิดนี้ จากการให้ประชาชนสามารถปลูก ซื้อ ขายได้อย่างเสรีโดยไม่ผิดกฎหมาย จึงทำให้เริ่มเห็นสีสันการขาย ในผู้ขายรายย่อยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตลาดนัด และเปิดท้ายขายกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในรูปแบบของใบสด
แต่ที่สำคัญหากจะมองไปถึงโอกาสทางธุรกิจ ของผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์ ที่น่าจะสร้างเม็ดเงินได้ จะเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำ ต่างก็ออกมาขานรับกระแส อย่างคึกคักไม่แพ้กันกับต้นน้ำ โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างอาหาร เครื่องดื่ม และยา ซึ่งหากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ยื่นใบอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์ได้ ที่คาดว่าจะอนุญาตได้ภายในปีนี้ ก็น่าจะได้เริ่มเห็นผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรชนิดนี้ ทยอยจำหน่ายออกสู่ตลาดในปี 2565
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการปลดล็อกออกจากยาเสพติด ในระยะแรกนับว่าความสำเร็จของภาพรวมธุรกิจคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และคงต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์เป็นสำคัญภายใต้อุปทานที่มีจำกัด จึงถือว่าเป็นช่วงทดสอบตลาด และผู้ประกอบการปลายน้ำยังต้องลองผิดลองถูก อยู่พอสมควรกับตลาดผู้บริโภค ว่าจะให้การตอบรับกับสินค้าได้ในระดับใด ซึ่งคงต้องรอดูผลตอบรับจากผู้บริโภคไปอีกสักระยะหนึ่ง
แม้ในเบื้องต้นจะเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้กระโดดเข้ามาเล่นในธุรกิจนี้แล้ว ซึ่งก็อาจทำได้ในสเกลเล็ก ๆ ที่จะสามารถประคองสินค้าไปได้ โดยใช้วัตถุดิบจากอุปทานที่มีจำกัด โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคใต้ที่ผู้มีผลผลิตในมือ จะได้รับประโยชน์ผ่านการขายใบสด ที่มีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ยราว 250-350 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 (ก.ย.-ธ.ค.) รายได้เกษตรกรอาจอยู่ที่ราว 9,000-12,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน ภายใต้สมมติฐานการคำนวณ จากอุปทานที่มีอยู่ราว 1,578 ต้น ซึ่งเป็นเพียงการประเมินตัวเลขปัจจุบัน ในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในระยะข้างหน้าจะไม่สามารถใช้ตัวเลขดังกล่าว เป็นเครื่องชี้วัดอ้างอิง และไม่สามารถใช้เป็นเครื่องสะท้อนความยั่งยืนทางการผลิตได้
รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ประเมินนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ที่จะสามารถยืนรักษาระดับราคาดังกล่าวนี้ไปได้ในระยะข้างหน้า เพราะรายได้เกษตรกรจะขึ้นอยู่กับการตอบรับของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบเป็นสำคัญ โดยในปัจจุบันเองก็ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์กลางน้ำ และปลายน้ำจากกระท่อมวางจำหน่ายในตลาด ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะในการสร้างตลาด เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ ทำให้อุปสงค์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และประเมินได้ยากในระยะถัดไป ดังนั้น เกษตรกรต้องทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขดังกล่าว ในการประกอบการตัดสินใจปลูก
อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์นี้ยังนับว่ามีสัดส่วนน้อยคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.07 ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรในภาคใต้ และคาดว่ารายได้เกษตรกรกลุ่มนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดีแค่ในระยะแรกเท่านั้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า เพราะอุปสงค์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผนวกกับหากตลาดผู้บริโภคให้การตอบรับดีในระยะแรก ก็อาจจูงใจให้มีผลผลิตที่ปลูกใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ในด้านอุปสงค์ที่รอการพิสูจน์ตลาดในระยะแรก จะนับว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอุปทานที่จะปลูกใหม่ในปัจจุบัน และให้ผลผลิตในระยะข้างหน้า อันจะมีผล ต่อระดับราคา/รายได้/ภาพรวมธุรกิจในอนาคต
สำหรับในฝั่งของอุปสงค์ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมปลายน้ำ ที่สามารถมีโอกาสเข้าไปทำตลาดได้ จะมีแนวโน้มเติบโตทั้งใน และต่างประเทศในอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่ม ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง แต่ก็นับว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เพราะยังอยู่ในช่วงทดสอบตลาดในปัจจุบัน โดยมีการประเมินว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ปลายน้ำในประเทศที่ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชั่นนัลฟู้ด (Functional Food) เครื่องดื่มชูกำลัง และสมุนไพร จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2564-2568 ที่ราวร้อยละ 1.0-3.1 และมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ในต่างประเทศที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมยาลดปวด เครื่องสำอาง และเครื่องดื่มชูกำลัง จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2564-2568 ที่ราวร้อยละ 3.6-6.4 ล้วนเป็นตลาดที่กระท่อมมีโอกาสเข้าไปได้ ทั้งนี้ แม้จะมีการคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าว แต่จะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดได้ เพราะในที่สุด คงต้องขึ้นอยู่กับระดับการตอบรับของตลาดกลางน้ำและปลายน้ำ ถ้าหากตลาดมีการตอบรับที่ดี ก็มีความเป็นไปได้ว่าในระยะข้างหน้า ตัวเลขอาจใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ แต่หากตลาดตอบรับไม่ดี ก็อาจส่งผลต่อตัวเลขให้แย่ลง ซึ่งจะกระทบต่อภาพการผลิตต้นน้ำได้
อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมปลายน้ำดังกล่าวในระยะข้างหน้า แต่ก็นับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่สูงนัก และคาดว่ากระท่อมอาจเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ในสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากความไม่ง่ายในการเจาะตลาดปลายน้ำของกระท่อม ซึ่งเป็นตลาดที่แคบเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เช่น ผู้บริโภคที่ต้องการความกระปรี้กระเปร่า ผู้ป่วยที่ต้องการยาลดความเจ็บปวด เป็นต้น ตลอดจนการรับรู้ของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์กระท่อมซึ่งเคยเป็นยาเสพติดมาก่อนยังมีไม่มากนัก รวมถึงผู้บริโภคต้องมีความรู้พอสมควรในสรรพคุณพืชกระท่อม ทำให้ผู้ประกอบการปลายน้ำอาจต้องมีการทำการตลาดพอสมควร อีกทั้งราคาขายที่น่าจะสูงกว่าสินค้าทดแทนอื่นๆ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ราคากระท่อมในระยะข้างหน้าอาจปรับตัวลดลงแรงเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน ยกเว้นว่าอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำจะได้รับการตอบรับและแข็งแรงมากพอ จึงจะสามารถช่วยให้ราคากระท่อมสดต้นน้ำยืนระดับดีได้ต่อเนื่อง ดังนั้น ด้วยอุปสงค์ที่มีความไม่แน่นอนสูง จึงอาจต้องมีการประเมินภาพธุรกิจกระท่อมเป็นระยะๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับเกษตรกรที่สนใจลงทุนปลูกต้นใหม่ คงต้องมีการวางแผนเพื่อตัดสินใจในการปลูกอย่างรอบคอบ เพราะยังขึ้นอยู่กับการตอบรับของอุปสงค์ในระยะแรก ซึ่งคงต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ร่วมกับเงื่อนไขหลายประการ ที่สำคัญคือ เงินลงทุนในการเริ่มปลูก เงินทุนหมุนเวียนระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ระยะเวลาคืนทุน และความเสี่ยงของราคาขายที่จะได้รับ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่ราคาขายเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วอาจน้อยกว่าในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากอุปทานมีปริมาณเพิ่มขึ้นและอุปสงค์ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งหากเกษตรกรผู้ปลูกไม่มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้รับซื้อ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาให้ปรับตัวลดลงไปตามกลไกตลาด ทั้งนี้ การปลูกใหม่เพื่อแซมพืชอื่นในสวนจะเป็นแนวทางที่ดี โดยอาจเริ่มต้นทำในสเกลเล็กๆ ซึ่งจะเหมาะกับเกษตรกรที่มีความพร้อมในแง่ของพื้นที่/เงินทุน และอาจไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงมากเท่ากับการเลือกปลูกแบบเชิงเดี่ยว นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งในแง่ของการให้ความรู้ในการปลูกที่ถูกต้อง การบริหารจัดการผลผลิตที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) และการส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ศักยภาพโดยเฉพาะในภาคใต้ รวมถึงแนวทางการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนและการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้รับซื้อ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้ปลูกถึงระดับรายได้ที่ดีในอนาคต
สรุป นอกจากตลาดในประเทศที่ต้องรอดูการตอบรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่ใช้เป็นวัตถุดิบแล้ว สำหรับในแง่ของตลาดส่งออก ก็นับว่ายังมีความไม่แน่นอนเช่นกัน เนื่องจากการจะบุกตลาดโลกได้นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ซึ่งผู้ประกอบการปลายน้ำที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ต่างก็ต้องสร้างการรับรู้ในสินค้าซึ่งเป็นสินค้าใหม่ ต้องหาฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มให้เจอ สามารถแข่งขันได้ทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ ในตลาด รวมถึงคู่แข่งหลักที่มีผลผลิตอย่างอินโดนีเซีย
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ทั้งเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกที่แข็งแรงมากพอและมีความต่อเนื่อง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดความต้องการใช้ และมีผลต่อทิศทางราคา ตลอดจนผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกในอนาคต