หัวข้อที่สำคัญ
ปุ๋ยคอก ตัวช่วยสำคัญต่อการเสริมความอุดมสมบูรณ์ในดิน
ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยมูลสัตว์ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาจากมูลสัตว์ ซึ่งในจุดเริ่มต้นจะเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเอาไว้ในวงจรของเกษตรผสมผสาน แล้วต่อมาจึงมีมูลสัตว์จากส่วนของปศุสัตว์เพิ่มเข้ามา มูลสัตว์ที่ใช้อาจเป็นมูลของสัตว์ชนิดไหนก็ได้ และจะใช้มูลของสัตว์ชนิดเดียวหรือผสมกันหลายชนิดก็ได้เช่นกัน โดยทางกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขยายความเพิ่มเติมเอาไว้ว่า ปุ๋ยมูลสัตว์ที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ต้องเป็นมูลสัตว์ที่ผ่านกระบวนการหมัก เพื่อย่อยสลายเสียก่อน ถึงจะทำให้พืชสามารดูดซึมธาตุอาหารที่มีไปใช้ประโยชน์ได้ และปุ๋ยสดใหม่ก็จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยที่เก็บไว้นานแล้ว เนื่องจากปุ๋ยชนิดนี้สูญเสียธาตุอาหารออกไปในรูปแบบของก๊าซได้ง่าย
ประโยชน์ของมูลสัตว์
แม้ว่าธรรมชาติของปุ๋ยมูลสัตว์จะมีอัตราส่วนของธาตุอาหารน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณมวลรวมของปุ๋ย แต่คุณสมบัติในการบำรุง และปรับโครงสร้างดินนั้นถือว่ายอดเยี่ยมมาก เพราะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งลักษณะทางกายภาพของดิน คุณสมบัติเชิงชีวภาพและคุณสมบัติเชิงเคมี เรื่องนี้เคยมีการทดสอบจนเห็นผลชัดเจนมาแล้ว ด้วยการวัดสภาพดินที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี พบว่าดินมีความแน่นน้อยลง มีความพรุนมากขึ้น ช่วยให้ถ่ายเทอากาศได้ดี อีกทั้งยังมีอัตราการเกิดเม็ดดินสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้มูลสัตว์ยังมีส่วนช่วย เพิ่มประสิทธิภาพของธาตุอาหารในดิน พร้อมกับเป็นแหล่งพลังงานที่ดี ให้กับจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินด้วย คุณยงยุทธ โอสถสภา และคณะ ได้ทำงานวิจัยและให้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า หากใช้มูลสัตว์กับดินที่เสื่อมสภาพเป็นเวลานานพอ มันจะช่วยเพิ่มค่า C.E.C. ในดินให้สูงขึ้น ค่านี้คือระดับความสามารถในการแลกประจุของดิน ซึ่งเชื่อมโยงกับปริมาณอินทรียวัตถุในดินโดยตรง ค่านี้ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งบ่งบอกว่าดิน มีความอุดมสมบูรณ์มากเท่านั้น
ปัจจัยที่ควบคุมความเป็นประโยชน์
เนื่องจากมูลสัตว์เป็นวัตถุดิบที่ได้มาจากธรรมชาติ อาจมีการแปรรูปเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานบ้าง แต่จะไม่มีการเสริมกระบวนการทางเคมีเพื่อการกำหนดปริมาณธาตุอาหารแต่อย่างใด ดังนั้นความไม่แน่นอนของแร่ธาตุที่มี จึงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการใช้ปุ๋ยชนิดนี้ แต่เราก็สามารถคัดสรรเพื่อให้ได้ปุ๋ยคุณภาพดีที่สุดได้ ด้วยการพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อธาตุอาหารในปุ๋ย ดังนี้
- ชนิดของอาหารที่สัตว์เหล่านั้นบริโภค โดยปกติแล้วสัตว์บริโภคเนื้อ จะให้มูลสัตว์ที่มีธาตุอาหารมากกว่าสัตว์บริโภคพืช อธิบายได้ง่ายๆ ด้วยเรื่องความหลากหลายของอาหาร สัตว์บริโภคพืชมักจะมีอาหารเป็นกลุ่มพืชแค่ไม่กี่ชนิดเท่านั้น ยิ่งเมื่อเป็นสัตว์เลี้ยงก็ยิ่งถูกจำกัดประเภทอาหารมากขึ้นไปอีก ไม่เหมือนกับสัตว์บริโภคเนื้อที่จะได้แร่ธาตุผ่านการบริโภคของสัตว์ที่กลายมาเป็นอาหารอีกทีหนึ่ง
- สัดส่วนของธาตุคาร์บอน/ไนโตรเจนของมูลสัตว์ อัตราส่วน C/N เป็นค่าที่บอกถึงองค์ประกอบเชิงเคมีในมูลสัตว์ ซึ่งทำให้สามารถระบุแบบคร่าวๆ ได้ว่าปุ๋ยนั้นได้วัตถุดิบมาจากแหล่งไหน ถ้ามูลสัตว์มาจากสัตว์บริโภคพืชจะมีค่า C/N ค่อนข้างกว้าง หมายความว่ามีธาตุคาร์บอนสูง และมีไนโตรเจนต่ำ ขณะที่มูลสัตว์จากสัตว์บริโภคเนื้อจะมีค่า C/N แคบกว่า จึงพบปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงขึ้น
- อายุของสัตว์ ระบบการย่อยอาหารของสัตว์ที่มีอายุมาก จะด้อยประสิทธิภาพกว่าสัตว์อายุน้อย เมื่ออาหารถูกย่อยเรียบร้อยแล้ว จะมีอัตราการดูดซึมสารอาหารค่อนข้างต่ำ ดังนั้นธาตุอาหารจึงยังคงหลงเหลืออยู่ในมูลสัตว์ค่อนข้างสูง ปุ๋ยที่ได้จากสัตว์อายุมากจึงมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมากกว่า
- วัสดุรองพื้นคอก ด้วยเหตุที่ส่วนผสมในปุ๋ยมูลสัตว์ทั่วไปมักจะมีวัสดุรองพื้นคอกรวมอยู่ด้วย การเลือกใช้วัสดุรองพื้นจึงมีผลต่อธาตุอาหารในมูลสัตว์ที่จะได้ โดยคุณสมบัติของวัสดุรองพื้นที่ดีจะต้องมีอัตราส่วน C/N ค่อนข้างแคบ และต้องดูดซึมธาตุอาหารที่เป็นมูลสัตว์เหลวได้ดี วัสดุที่นิยมใช้ได้แก่ หญ้าขน ผักตบชวา ปอเทือง เป็นต้น
- การเก็บรักษาปุ๋ยมูลสัตว์ เมื่อเทียบกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น ปุ๋ยมูลสัตว์ถือว่ามีอัตราการสลายตัวของธาตุอาหารได้เร็วที่สุด การเก็บปุ๋ยไว้นานเกินไปจะทำให้ธาตุอาหารค่อยๆ ลดลงจะน้อยกว่าค่าปกติ และการเก็บปุ๋ยไว้ในพื้นที่ซึ่งมีปริมาณความชื้นสูง ก็จะสูญเสีญธาตุอาหารบางส่วนไป คุณมุกดา สุขสวัสดิ์ได้อธิบายไว้ว่า ปุ๋ยคอกที่อยู่ท่ามกลางความชื้นจะเกิดกระบวนการสลายตัวแบบไม่ใช้อากาศ กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแอมโมเนีย
อัตราการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์
อ้างอิงตามข้อมูลชุดความรู้เกี่ยวกับปุ๋ยอินทรีย์จากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ เราสามารถปรับอัตราส่วนการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิดได้ ดังนี้
- ข้าว ใช้มูลสัตว์แห้ง 2 ตันต่อไร่ โดยวิธีการหว่านให้ทั่ว แล้วไถกลบก่อนเริ่มต้นการเพาะปลูก
- พืชไร่ ใช้มูลสัตว์แห้ง 2 ตันต่อไร่ โดยคลุกเคล้ากับดินตามแนวการเพาะปลูก
- พืชผัก ใช้มูลสัตว์แห้ง 4 ตันต่อไร่ โดยผสมกับดินในช่วงเตรียมแปลงปลูก
- ไม้ผล ไม้ยืนต้น จะแบ่งวิธีการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้ 20 กิโลกรัมต่อหลุม โดยคลุกกับดินเพื่อรองก้นหลุมก่อนลงต้นกล้า ครั้งต่อมาใช้ 20-50 กิโลกรัมต่อต้น ด้วยการใส่ปุ๋ยลงในร่องลึกตามแนวทรงพุ่ม ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ปรับไปตามอายุของต้นพืช
- ไม้ตัดดอก ใช้มูลสัตว์แห้ง 2 ตันต่อไร่
- ไม้ดอกยืนต้น ใช้มูลสัตว์แห้ง 5-10 กิโลกรัมต่อไร่
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนที่เป็นตัวเลขชัดเจนแบบนี้ เราอาจเห็นค่าที่แตกต่างกันไปในแต่ละแหล่งข้อมูล ทั้งนี้เป็นเพราะมันไม่ได้เป็นตัวเลขที่ต้องใช้ตามที่กำหนดเสมอ สามารถพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นได้ เช่น คุณภาพของมูลสัตว์แห้งที่ใช้ ความแข็งแรงและสายพันธุ์ของต้นพืช ความอุดมสมบูรณ์ดั้งเดิมของพื้นที่ เป็นต้น
การเก็บรักษามูลสัตว์
- ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุรองพื้นคอก อันดับแรกต้องเลือกวัสดุที่มีค่า C/N ค่อนข้างแคบซึ่งจะมีผลดีต่อการเสริมปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยมากกว่า แล้วใช้วัสดุชนิดอื่นที่แห้งสนิทมาช่วยในการดูดซับของเหลว เช่น ฟางแห้ง หญ้าแห้ง เป็นต้น หากสับให้วัสดุเหล่านั้นมีขนาดเล็กลงได้ ก็จะช่วยให้ดูดซึมของเหลวได้ดียิ่งขึ้น
- เลือกพื้นที่จัดเก็บมูลสัตว์ให้เหมาะสม อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นพื้นที่ปิดที่ไม่เจอกับฝนและแสงแดด เพื่อชะลอการสูญเสียธาตุอาหารที่จะเกิดขึ้น
- ดูแลระดับความชื้นให้เหมาะสม ปุ๋ยมูลสัตว์ที่ดีและมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการใช้งาน จะต้องมีความชื้นเพียงเล็กน้อย และเม็ดปุ๋ยไม่เกาะติดกัน ระหว่างการเก็บรักษาเราจึงต้องคอยจัดการไม่ให้พื้นที่นั้นแห้งหรือเปียกเกินไป โดยสามารถสังเกตจากสัญญาณที่บ่งบอกว่าระดับความชื้นไม่เหมาะสม ตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ยกตัวอย่างเอาไว้ดังนี้ การเกิดเชื้อราสีขาวเมื่อกองปุ๋ยแห้งเกินไป เนื้อปุ๋ยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเขียว และอาจมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากกองปุ๋ยชื้นเกินไป และเนื้อปุ๋ยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เมื่อสภาพแวดล้อมโดยรวมไม่เหมาะสม
- ใช้ตัวช่วยอื่นในการรักษาคุณภาพของมูลสัตว์ สิ่งที่ทำได้ค่อนข้างง่ายและสะดวก คือการใช้ยิปซั่มหรือกรดบางชนิดมาผสมกับมูลสัตว์เพียงเล็กน้อย เพื่อลดอัตราการระเหยของธาตุไนโตรเจน อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีแต่จะต้องลงทุนมากกว่า คือการทำหลุมคอนกรีตสำหรับการเก็บมูลสัตว์โดยเฉพาะ
- ไม่ควรเก็บมูลสัตว์ไว้นานเกินไป ปกติแล้วเราสามารถหาวัตถุดิบที่สดใหม่ได้เรื่อยๆ ดังนั้นต้องบริหารการใช้งานให้ดี อย่าให้มีมูลสัตว์ที่เก็บค้างสต็อกนานเกินไป เพราะยิ่งนานเท่าไรธาตุอาหารก็ยิ่งลดน้อยลงมากเท่านั้น
ข้อควรคำนึงในการใช้มูลสัตว์
- การใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไปนั้น อาจจะส่งผลให้พืชขาดธาตุอาหารที่จำเป็นบางชนิดได้
- กลิ่นนั้นถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของมูลสัตว์ใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่มันเริ่มเน่าแล้ว เพราะฉะนั้นควรคำนึงให้ดี ในการนำไปใช้ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อใครหรือไม่
- ในมูลสัตว์นั้นจะมีสารโลหะพิษบางอย่าง ที่ปนมากับอาหารของสัตว์ ซึ่งตรงส่วนนี้คือข้อเสียของปุ๋ยมูลสัตว์ เพราะสัตว์นั้นกินพืชต่าง ๆ โดยที่เราไม่รู้ว่าอาหารที่สัตว์เหล่านั้นกินมันปนมากับอะไรมาบ้าง ดังนั้นการใช้มูลสัตว์สดๆ สำหรับพืชบางชนิดอาจจะไม่เหมาะสม
- ความเค็มของมูลสัตว์ ในมูลสัตว์หมักนั้นจะมีปริมาณของเกลือในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นถ้าหากใช้ในปริมาณที่เยอะ ก็อาจจะส่งผลเสียให้ดินเค็ม หรือมีสภาพที่สะสมเกลือโซเดียมอยู่ได้ ดังนั้นถ้าหากจะนำไปใช้ก็ควรพิจารณาให้ดีก่อน และควรใช้ในปริมาณที่พอดี
- มูลสัตว์สด ๆ นั้นจะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ แต่ก็ยังมีธาตุอาหารที่สามารถละลายได้ง่าย อย่างเช่น ธาตุไนโตรเจน (N) ที่เป็นส่วนประกอบอยู่มาก แต่หลังจากที่มีการปล่อยให้มีการเน่าเปื่อย และระบายน้ำแล้วก็จะเหลือปุ๋ยเก่าที่มีน้ำหนักลดลง ทำให้ปุ๋ยเก่านั้นแห้ง และมีไนโตรเจนที่สามารถละลายได้ง่าย ลดลงนั่นเอง เนื่องจากจุลินทรีย์ได้ทำการดูดเพื่อนำไปใช้ในการสร้างเซลล์ แต่ธาตุฟอสฟอรัส (P) และธาตุโพแทสเซียม (K) ก็ยังคงอยู่ และมีส่วนที่เป็นประโยชน์มากขึ้นด้วย ถ้าหากมีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
เพาะเมล็ด / เพาะชำ
ควรใช้ มูลไส้เดือน
เร่งการเจริญเติบโต
ควรใช้ มูลวัว มูลกระบือ
เร่งดอก ออกผล
ควรใช้ มูลหมู มูลไก่ มูลเป็ด มูลค้างคาว
ปุ๋ยคอก จะมีปริมาณธาตุอาหารมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการเลี้ยง การเก็บรักษา แหล่งที่อยู่ของสัตว์ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อพืชผักแล้ว ยังช่วยป้องกันรักษาหน้าดินและบำรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชด้วย
ขี้ไส้เดือน หรือมูลไส้เดือน
ไนโตรเจน (N) 0.995% ฟอสฟอรัส (P) 0.669% โพเทสเซียม (K) 1.487%
เหมาะสำหรับบำรุงต้น ราก ใช้ในช่วงที่พืชกำลังออกรากและเติบโต ใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้าพืชได้ ช่วยให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น ระบายน้ำและอากาศได้ดี และเก็บความชื้นได้มากขึ้น ช่วยให้ระบบรากพืชกระจายตัวในดินได้ดีขึ้น


ปุ๋ยขี้วัว อุดมไปด้วยไนโตรเจน ช่วยเร่งความสูงพืช
ในปัจจุบันปุ๋ยที่หลากหลายแบบให้ได้เลือกใช้กัน ทั้งปุ๋ยสังเคราะห์ ปุ๋ยจากธรรมชาติ หรือปุ๋ยผสมระหว่างสังเคราะห์และธรรมชาติ ในแต่ละแบบก็จะมีความโดดเด่นและการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน แต่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ปุ๋ยที่ทำมาจากธรรมชาติและต้องการปริมาณไนโตรเจนปริมาณมากเพื่อเพิ่มความสูงของต้นไม้อย่างรวดเร็ว ปุ๋ยที่แนะนำก็คือ ปุ๋ยขี้วัว นั่นเอง
ขี้วัว หรือมูลวัว
K P N ในปุ๋ยขี้วัวเนื้อ
ปุ๋ยขี้วัวเนื้อที่ดีจะต้องมีปริมาณของธาตุไนโตรเจน (N) ปริมาณ 1.25% ปริมาณธาตุฟอสฟอรัส (P) ปริมาณ 0.01% และมีปริมาณธาตุโพแทสเซียม (K) ปริมาณ 2.12%
K P N ในปุ๋ยขี้วัวนม
ปุ๋ยขี้วัวนมที่ดีนั้นจะต้องมีปริมาณธาตุไนโตรเจน (N) ปริมาณ 1.95% ปริมาณธาตุฟอสฟอรัส (P) ปริมาณ 1.76% ปริมาณธาตุโพแทสเซียม (K) ปริมาณ 1.43% ปริมาณธาตุแคลเซียม (Ca) ปริมาณ 1.82% ปริมาณธาตุแมกนีเซียม (Mg) ปริมาณ 0.56% และมีปริมาณธาตุกำมะถัน (S) ปริมาณ 0.07%
เหมาะกับพืชในช่วงขยายราก บำรุงรากได้ดี ใช้เตรียมดินโดยใส่ในอัตรา 1-3 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แล้วหมักทิ้งไว้ 15-30 วันก่อนปลูกพืช ควรใช้มูลเก่าเพราะมูลสดทำให้เกิดความร้อนและมีการดึงไนโตรเจนจากดินไปใช้ พืชอาจมีอาการใบเหลืองและตายได้
ปุ๋ยขี้วัวมีกี่ประเภท
ปุ๋ยขี้วัวนม
เป็นปุ๋ยคอกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมารองพื้นในการปลูกพืชไร่อายุยาว เช่น ยางพารา อ้อย เป็นต้น ช่วยทำให้ดินสามารถเก็บความชื้นได้นานมากกว่าเดิม ซึ่งข้อดีข้อนี้ทำให้พืชสามารถทนร้อนทนหนาวทนแล้งได้ดีและสามารถช่วยฟื้นตัวเร็วอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยปรับค่า pH ให้เป็นกลางในสระน้ำ คลุกเมล็ดพันธุ์พืชในมูลวัวก่อนปลูกเป็นการรักษาไม่ให้มอดแมลงเจาะกิน ปรับปรุงสภาพดินที่เสื่อมโทรม ทำให้ดินมีระบายน้ำได้ดีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยเพิ่มความคงทนให้แก่เม็ดดินเป็นการลดการชะล้าง
ปุ๋ยขี้วัวเนื้อ
เป็นปุ๋ยที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด – ด่าง ในดินและน้ำ ทั้งยังช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้เป็นธาตุอาหารแก่พืช พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชให้สมบูรณ์ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุย และช่วยดูดซับความชื้นไว้ในดินให้นานขึ้น
“ปุ๋ยขี้วัว” ใช้แบบไหนใช้อย่างไรจึงเหมาะสม
สำหรับปุ๋ยขี้วัวนี้เหมาะกับพืชที่กำลังจะขยายราก เนื่องจากปุ๋ยขี้วัวประเภทนี้จะช่วยบำรุงรากได้ดียิ่งขึ้น แต่ควรจะใช้เป็นมูลวัวที่ค่อนข้างเก่าหน่อย เนื่องจากมูลวัวที่สด จะทำให้เกิดความร้อนและมีการดึงไนโตรเจนจากดินไปใช้ ทำให้พืชอาจมีอาการใบเหลืองและตายได้ ในการใส่ปุ๋ยขี้วัวจะต้องใช้ไม่เกินเดือนละ 1 ครั้ง เพราะปุ๋ยขี้วัวมีไนโตรเจนเยอะ อาจจะอันตรายแก่พืชหรือต้นไม้ที่ได้ใส่ปุ๋ยเข้าไป
วิธีทำปุ๋ยขี้วัว
อุปกรณ์การทำปุ๋ยขี้วัว
- ขี้วัวที่ได้ จำนวน 100 กิโลกรัม แบ่งออกเป็น 4 ถุง
- รำละเอียด จำนวน 5-10 กิโลกรัม
- ปุ๋ยชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพ จำนวน 2 ลิตร
- แกลบสีดำ จำนวน 100 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล จำนวน 20 ลิตร
- น้ำสะอาด จำนวน 20-30 ลิตร
- ถังพลาสติดขนาด 50 ลิตร จำนวน 1 ใบ
วิธีในการทำปุ๋ยขี้วัว
- จะต้องเตรียมสถานที่ในการทำปุ๋ยขี้วัว โดยควรจะใช้ลานกว้างที่มีพื้นที่เสมอและเรียบกันทั้งหมด
- เทวัสดุสามอย่างเข้าด้วยกัน คือ ขี้วัว, แกลบสีดำ และรำละเอียด เข้าด้วยกัน บนลานกว้างที่เตรียมไว้
- เทส่วนผสมสามอย่าง คือ ปุ๋ยชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพ, กากน้ำตาล และน้ำ ถ้าหากใช้น้ำประปาจะต้องตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้กลิ่นคลอรีนระเหยออกจากน้ำให้หมดก่อน ลงในถัง แล้วทำการคนให้เข้ากันทั้งหมด
- นำบัวรดน้ำที่ผสมกันแล้วรดลงที่กองปุ๋ยที่ได้ผสมไปในข้างต้น แล้วคลุกให้เข้ากัน จนหมดน้ำที่ผสมไว้ ใช้มือบีบดู ถ้าเป็นก้อน ไม่มีน้ำไหลออกมาตามง่ามมือ ก็เป็นอันใช้ได้
- ล้อมกองปุ๋ยให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยให้มีความสูงไม่เกิน 1 ฟุต ถ้าหากสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้อาจจะทำให้เกิดความร้อน จนทำให้จุลินทรีย์ตายได้ จากนั้นให้นำกระสอบป่านหรือกระสอบปุ๋ยมาคลุมไว้ในที่ร่มเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นก็สามารถนำไปใช้งานได้ทันที
เคล็ดลับวิธีใช้ปุ๋ยขี้วัว ให้ได้ประสิทธิภาพ
- การนำปุ๋ยขี้วัวประมาณ 1 กำมือ ใส่ในถังขนาด 10 ลิตร แล้วแช่ไว้เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นน้ำจะมีสีแดงออกมาจำนวนมาก ให้นำน้ำสีแดงไปรดที่ต้นไม้หรือพืช ปริมาณ 1 ใน 4 ของแก้วต่อต้นไม้ 1 ต้น สำหรับต้นไม้ต้นเล็ก ส่วนต้นใหญ่สามารถรดได้ 1 แก้วเมื่อรดจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าต้นไม้จะสดชื่น และสวยงามอย่างชัดเจน
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยขี้วัวเกินเดือนละ 1 ครั้ง เนื่องจากเป็นการให้ไนโตรเจนมากเกินไป เป็นอันตรายต่อพืชได้
ราคาของปุ๋ยขี้วัว
สำหรับราคาของของขี้วัวเนื้อ ในปี 2565 ที่ขายในปัจจุบันจะมีราคาที่แพงกว่าเมื่อก่อนพอสมควร เพราะเป็นผลพวงมาจากปุ๋ยเคมี ที่มีราคาแพงขึ้นมาก เกษตรกรจึงหันมาใช้เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี กันมากขึ้นนั่นเอง โดยที่ราคาจะอยู่ที่ 60-100 บาทต่อ 1 กระสอบ นิยมเป็นปุ๋ยที่เป็นขี้วัวแห้ง หรือเป็นผงละเอียด ส่วนปุ๋ยขี้วัวนมจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่ามาก เพราะใช้เป็นอาหารไส้เดือน ซึ่งมีผู้เลี้ยงไส้เดือนเป็นจำนวนมากต้องการใช้ จะจำหน่ายอยู่ที่ราคา 150-300 บาทต่อ 1 กระสอบ โดยราคาก็จะขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา และ % ของขี้วัวนม
ขี้ควาย หรือมูลควาย
ไนโตรเจน (N) 1.01% ฟอสฟอรัส (P) 0.30% โพเทสเซียม (K) 0.58%
เหมาะสำหรับบำรุงต้น ช่วยเร่งการเติบโตของพืช ควรใช้มูลแห้งเช่นเดียวกับมูลวัว เหมาะสำหรับใส่รอบโคนต้นไม้ผล หรือรองก้นหลุมก่อนปลูกไม้ยืนต้น


ปุ๋ยขี้หมู เต็มไปด้วยฟอสฟอรัส เร่งการเจริญเติบโตในพืชรากและหัว
บอกได้เลยว่าถ้าเกษตรกรที่ต้องการลดต้นทุนในการปลูกพืชผักหรือต้นไม้ หันมาใช้ปุ๋ยขี้หมูกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นปุ๋ยที่หาได้ง่ายมากๆ ราคาสามารถแตะต้องได้ ไม่แพง ราคาถูกมาก และที่สำคัญยังมีแร่ธาตุที่สำคัญต่อพืชและต้นไม้ถึง 13 ชนิด ได้แก่ N, P, K, Ca, Mg, S, Fe, Mn, Cu, Zn, B, Mo, และ Cl
ซึ่งชาวเกษตรกรที่หันมาใช้ปุ๋ยขี้หมูกันนั้น เนื่องจากมีการทดลองได้ผลทำให้พืชหรือต้นไม้มีผลผลิตที่ดีขึ้น มากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากต้นไม้และพืชได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตดี ลำต้นแข็งแรง
ขี้หมู หรือมูลหมู
ไนโตรเจน (N) 1.30% ฟอสฟอรัส (P) 2.40% โพเทสเซียม (K) 1.00%
เหมาะสำหรับไม้ผลบำรุงในช่วงติดดอก อาจนำมูลเหลวจากคอกไปลงบ่อหมักก๊าซชีวภาพแล้วเอามาเป็นปุ๋ยใส่พืชได้ และยังได้ก๊าซชีวภาพที่นำไปใช้หุงต้มหรือใช้ในฟาร์มได้ด้วย
ปุ๋ยขี้หมู มีกี่ประเภท
ปุ๋ยขี้หมูจะมี 2 ประเภท ก็คือ ปุ๋ยขี้หมูแบบเม็ด และแบบน้ำ
ปุ๋ยขี้หมูแบบเม็ด
เป็นปุ๋ยที่ไม่นิยมผสมดิน ผ่านการตากแห้ง ทำให้ไม่มีกลิ่นและไม่มีความชื้น อีกทั้งยังปลอดสารพิษต่างๆอีกด้วย โดยปุ๋ยขี้หมูชนิดนี้จะนิยมใส่ที่ดิน เพื่อให้รากดูดซึมเข้าไปเป็นอาหารภายในลำต้น
ปุ๋ยขี้หมูแบบน้ำ
เป็นปุ๋ยที่นิยมนำขี้หมูแห้งมาผสมด้วยตนเอง เป็นการลดต้นทุนในการปลูกพืชผักเกษตรกรรมต่างๆ อีกทั้งยังสามารถเห็นผลอย่างชัดเจน เนื่องจากปุ๋ยขี้หมูแบบน้ำ จะใช้ในการฉีดทางใบ เพื่อให้ใบได้สังเคราะห์แสงและนำสารอาหารและธาตุต่างๆไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว แต่จะใช้ได้ในเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น เนื่องจากกลางคืนไม่มีการสังเคราะห์แสง
ปุ๋ยขี้หมูดีอย่างไร?
สำหรับปุ๋ยขี้หมูนั้น เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่เกิดจากการกินอาหาร แล้วจำพวกเศษอาหารเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการย่อยสลายไปบางส่วนแล้วในทางเดินอาหาร จึงเหลือเป็นกากอาหารที่หมูได้ขับถ่ายออกมา ซึ่งกากอาหารที่ออกมานั้นอุดมไปด้วยธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำได้หลายชนิด ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าก็จะมีองค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นธาตุอาหารที่สมบูรณ์ของพืช มีธาตุอาหารชนิดใดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่สัตว์ชนิดนั้น ๆ กินเข้าไปเป็นปัจจัยสำคัญ โดยส่วนใหญ่ปุ๋ยขี้หมู มีปริมาณของธาตุไนโตรเจน (N) ปริมาณ 1.30% ปริมาณธาตุฟอสฟอรัส (P) ปริมาณ 2.4% และมีปริมาณธาตุโพแทสเซียม (K) ปริมาณ 1.00% ซึ่งธาตุไนโตรเจน (N) เป็นธาตุที่ทำหน้าที่บำรุงใบ ลำต้น ยอดอ่อน โดยจะเป็นการช่วยทำให้เกิดการสังเคราะห์แสงที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ธาตุฟอสฟอรัส (P) เป็นธาตุที่ทำหน้าที่บำรุง ส่วนของดอก ผล เมล็ด ตั้งแต่ สีสันของผลและดอก ช่วยให้ผลสุกหอม หวาน และส่วนธาตุธาตุโพแทสเซียม (K) เป็นธาตุที่ช่วยบำรุงระบบราก หัว
“ปุ๋ยขี้หมู” ใช้แบบไหนใช้อย่างไรจึงเหมาะสม
สำหรับปุ๋ยขี้หมูนั้น เป็นที่มีธาตุฟอสฟอรัสที่ปริมาณสูงกว่าธาตุอื่นๆ ซึ่งเป็นธาตุที่ช่วยบำรุงระบบราก หัว จึงนิยมนำไปใส่ในต้นไม้หรือพืชที่เป็นหัวและราก อาทิเช่น มันสำปะหลัง มันฝรั่ง เผือก มันเทศ บุก กลอย แก่นตะวัน แห้ว เป็นต้น ในการใส่ปุ๋ยสำหรับพืชและต้นไม้นั้น ควรจะใส่ประมาณ 2-3 ครั้ง ต่อ 2 เดือน ซึ่งสำหรับปุ๋ยที่ใส่พร้อมดินทางราก ส่วนปุ๋ยขี้หมูชนิดน้ำในการใช้ฉีดทางใบ นิยมฉีด 15 วันต่อ 1 ครั้ง
วิธีทำปุ๋ยขี้หมู
อุปกรณ์ที่ใช้
- ขี้หมู จำนวน 1 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด จำนวน 10 ลิตร
- ถังไนลอน
- ถุงตาข่าย สำหรับใส่ขี้หมู
- ขวดหรือภาชนะบรรจุปุ๋ยขี้หมูชนิดน้ำ พร้อมฝาปิด
วิธีทำปุ๋ยขี้หมูชนิดน้ำ
- นำขี้หมูบรรจุลงในถังไนลอน ที่มีถุงตาข่ายรองรับไว้ โดยแช่ในน้ำในอัตราส่วนคือ ขี้หมู 1 กิโลกรัม:น้ำ 10 ลิตร จากนั้นปิดฝาให้สนิท
- หมักขี้หมูและน้ำ เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง
- เมื่อครบระยะเวลาที่ต้องหมักแล้ว ให้ยกถุงที่บรรจุขี้หมูออกจากถังไนลอน จะได้น้ำปุ๋ยขี้หมูสีน้ำตาลใส ซึ่งควรบรรจุเก็บไว้ในถังหรือภาชนะที่มีฝาปิด
หมายเหตุ
- ถ้าต้องการปุ๋ยชนิดน้ำที่ฉีดทางใบได้ ให้ผสมในสัดส่วนน้ำสกัดมูลสุกรอัตรา 1 ลิตรผสมน้ำ 10 ลิตร ผสมสาจับใบ 3 – 5 ซีซี
- ถ้าต้องการให้ผลผลิตมีความหวานเพิ่มยิ่งขึ้นหรือต้องการให้ต้นไม้หรือพืชโตเร็วมากยิ่งขึ้น ให้ใช้น้ำสกัดมูลสุกรปล่อยไปตามร่อง พร้อมกับการขึ้นน้ำให้อ้อยประมาณ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง
เคล็ดลับวิธีใช้ปุ๋ยขี้หมูให้ได้ประสิทธิภาพ
- น้ำปุ๋ยที่สกัดจากขี้หมูที่ได้นั้น สามารถหมักเก็บไว้ใช้ได้นาน ซึ่งจะทำให้น้ำสกัดใสยิ่งขึ้น และมีธาตุอาหารในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมากยิ่งขึ้น
- ในการทำปุ๋ยขี้หมูชนิดน้ำนั้น ใช้ขี้หมูที่แห้ง จำนวน 1 กิโลกรัม ทำน้ำสกัดได้มากถึงประมาณ 8 ลิตร
- สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยทางดินได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาหมักนานถึง 45 วัน เหมือนปุ๋ยหมักทั่วไป
ราคาของปุ๋ยขี้หมู
ราคาของปุ๋ยขี้หมู ในปี 2565 ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เลย เนื่องจากเกิดโรคระบาดในหมู ตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงมาก ทำให้ขี้หมูที่มีอยู่อย่างจำกัดมีราคาสูงยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับปุ๋ยขี้หมูในปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ 2 แบบคือ
- แบบเม็ด โดยราคาจะขึ้นอยู่กับอัตราส่วนระหว่างขี้หมู และดินหรือส่วนอื่นๆ
- แบบน้ำ นิยมจะนำขี้หมูแห้งมาผสมด้วยตนเอง โดยขี้หมูแห้ง จะจำหน่ายแบบกระสอบ 30 กิโลกรัม
ขี้เป็ด หรือมูลเป็ด
ไนโตรเจน (N) 1.02% ฟอสฟอรัส (P) 1.84% โพเทสเซียม (K) 0.54%
เหมาะกับบำรุงพืชในช่วงเติบโต บำรุงในช่วงติดดอก ออกผลได้ดี


ปุ๋ยขี้ไก่ ใส่ดินก็ได้ใส่พืชก็ดี
ปุ๋ยขี้ไก่ หรือปุ๋ยมูลไก่ คือปุ๋ยที่ได้มาจากมูลของไก่ที่ขับถ่ายออกมาและนำไปสู่ขั้นตอนการทำเป็นปุ๋ยในกระบวนการต่อไป โดยปุ๋ยขี้ไก่นั้นถือว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นเยี่ยมชนิดหนึ่ง เนื่องจากปุ๋ยขี้ไก่หรือปุ๋ยมูลไก่นั้นประกอบด้วยธาตุอาหารที่มีความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนส่วนมากมีความต้องการที่จะพัฒนาปุ๋ยขี้ไก่เพื่อนำเข้ามาสู่เศรษฐกิจการเกษตรมากขึ้น จนกระทั่งนำมาสู่การเป็นปุ๋ยมูลไก่อัดเม็ดในที่สุด ซึ่งปุ๋ยขี้ไก่ และขี้เป็ดนั้นจะมีปริมาณธาตุอาหารที่สูงกว่าขี้วัว และขี้ควาย
ขี้ไก่ หรือมูลไก่
ไนโตรเจน (N) 1.67% ฟอสฟอรัส (P) 3.32% โพเทสเซียม (K) 2.41%
เป็นปุ๋ยคอกที่มีธาตุอาหารสูง เหมาะกับพืชทุกชนิด ใช้ได้ทุกช่วงที่พืชเติบโต ปริมาณธาตุอาหารขึ้นอยู่กับวัสดุรองพื้น
ประเภทของปุ๋ยขี้ไก่
ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ
ปุ๋ยประเภทนี้เป็นปุ๋ยที่ได้จากการเลี้ยงไก่เนื้อในระบบฟาร์ม ซึ่งจะเลี้ยงในพื้นราบและนำแกลบมาปูพื้นในระบบฟาร์ม เมื่อไก่กินอาหารแล้วก็จะถ่ายลงพื้นผสมกับแกลบ และหลังจากที่จับไก่ไปเรียบร้อยแล้วก็จะนำขี้ไก่กับแกลบที่เหลืออยู่ในฟาร์มนั้นมาใส่ถุงเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ ซึ่งไก่เนื้อนั้นจะเลี้ยงด้วยความรวดเร็ว โดยเน้นแต่กลุ่มอาหารในการเร่งโต ไม่ว่าจะเป็นยาหรือสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมา เมื่อไก่ถ่ายออกมา ธาตุอาหารนั้นก็จะผสมกับแกลบ และสิ่งที่อาจจะตามมานั้นก็คือเชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส แต่ถ้าเกิดว่าได้ขี้ไก่ล็อตสุดท้ายของการล้างโรงเรือนสิ่งที่เราจะได้นั่นก็คือโซดาไฟ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้พืชที่เราใส่ปุ๋ยให้นั้นตายได้ง่ายขึ้น
ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด
ปุ๋ยประเภทนี้เป็นการคัดเอาเศษขยะที่ปะปนอยู่กับขี้ไก่ออกให้หมด จากนั้นนำมูลไก่มาบดให้ละเอียดแล้วรดน้ำพอหมาด ๆ เสร็จแล้วก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำเข้าเครื่องอัด ซึ่งถ้าหากผลิตในปริมาณที่ไม่มากก็ใช้เครื่องบดเนื้ออัดเป็นแท่งแล้วนำไปผึ่งลม ถ้าใช้มือขยำแล้วจะแตกหักเป็นเม็ด และเมื่อผึ่งลมจนแห้งแล้วก็นำเก็บในถุงเพื่อเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งถ้าหากผลิตในปริมาณมากจำเป็นจะต้องใช้เครื่องอัดขนาดใหญ่ขึ้น โดยขนาดกระบอกบรรจุเส้นผ่านศูนย์กลางจะอยู่ที่ 20-30 เซนติเมตร มีรูขนาด 3-5 มิลลิเมตร และกำลังผลิต 2,000-3,000 กิโลกรัม/วัน
ข้อดีของปุ๋ยขี้ไก่
ปุ๋ยขี้ไก่ถือเป็นวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากจากโรงงานเลี้ยงไก่ทั่วไป โดยมูลไก่ที่ถูกเลี้ยงดูโดยมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้นก็ยิ่งมีปริมาณธาตุอาหารที่ได้จากมูลไก่สูงกว่าหรือเทียบเคียงจากค่าการศึกษาวิจัยของสำนักงานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้ระบุไว้ว่ามูลไก่ไข่จะมีธาตุไนโตรเจน 2.23% ฟอสฟอรัส 1.96% โพแทสเซียม 2.29% แคลเซียม 8.09% แมกนีเซียม 0.74% ซัลเฟอร์ 0.54% โซเดียม 0.32% เหล็ก 0.31% ทองแดง 75.51 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แมงกานีส 591.87 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสังกะสี 396.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อนำไปใช้บำรุงพืชจึงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีน่าพึงพอใจ ภายใต้ปัจจัยตั้งต้นโดยเริ่มตั้งแต่การใช้อาหารเลี้ยงไก่ ไปจนถึงได้มูลออกมาแล้วนำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงพืช ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานไร้สารเคมี เมื่อนำไปทำเกษตรแนวอินทรีย์หรือใช้บำรุงพืชแบบคาดหวังก็จะได้ผลลัพธ์ในทางที่ดีอย่างเต็มที่กับพืชปลูกในสภาพไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก ไม้ผล เป็นต้น เนื่องจากพืชเหล่านี้เป็นพืชที่ต้องการโครงสร้างดินที่ดีในการเจริญเติบโต ซึ่งสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีหรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ นอกจากนี้ปุ๋ยขี้ไก่ก็ยังมีข้อดีต่าง ๆ ดังนี้
- ช่วยลดอัตราการใช้ไนโตรเจนและเพิ่มผลผลิตให้แก่อ้อย
- ช่วยเพิ่มน้ำหนักหัวให้มันสำปะหลังและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดิน
- ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับข้าวโพด ทั้งแบบน้ำหนักฝักสดและฝักแห้ง
- ปุ๋ยขี้ไก่สามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตได้จริง
วิธีการใช้ปุ๋ยขี้ไก่
ประเภทพืชที่เหมาะสมต่อการใช้ปุ๋ยขี้ไก่
พืชที่เหมาะสมต่อการนำปุ๋ยขี้ไก่มาใช้คือพืชที่ปลูกในสภาพไร่ อาทิ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก และไม้ผล เพราะพืชประเภทนี้ เป็นพืชที่มีความต้องการโครงสร้างดินที่ดีในการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นปุ๋ยที่ช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินได้ดีอีกด้วย
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ปุ๋ยขี้ไก่
สำหรับการใช้ปุ๋ยขี้ไก่แกลบเพื่อบำรุงพืชให้มีการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ก็คือช่วงฤดูร้อน ถ้าหากใช้ในฤดูฝนหรือปลายฝนต้นหนาวนั้นจะทำให้พืชมีโอกาสได้รับความเสียหายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นควรใช้ปุ๋ยขี้ไก่แกลบในการบำรุงพืชในช่วงฤดูร้อน ส่วนปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดนั้นจะต้องดูเรื่องนวัตกรรมในการผลิตและการอบฆ่าเชื้อ
จุดมุ่งหมายในการใช้ปุ๋ยขี้ไก่
การนำปุ๋ยขี้ไก่มาใช้ในทางการเกษตรนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อบำรุงพืชให้เจริญเติบโต ได้ผลผลิตออกมาตามที่ต้องการ และนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น และเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดิน ซึ่งจะช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น นอกจากนี้ปุ๋ยขี้ไก่ก็ยังสามารถนำมาใช้แทนปุ๋ยเคมีหรือผสมกับปุ๋ยเคมีได้ด้วย
วิธีทำปุ๋ยขี้ไก่
วิธีการทำปุ๋ยขี้ไก่ ขั้นตอนแรกให้นำมูลไก่ไปตากแดดไว้ประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้แห้งสนิท จากนั้นนำรำข้าวเทกองไว้ โดยใช้ในปริมาณเท่ากับขี้ไก่ที่เตรียมไว้ แล้วทำการคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยใช้จอบมาพรวนให้เข้ากันดี ก่อนที่จะใช้น้ำ EM 1 ลิตร และกากน้ำตาล 1 ลิตร มาผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปราดบริเวณปุ๋ยที่กองไว้และคลุกเคล้าให้ปุ๋ยนั้นโดนน้ำจนทั่ว เพื่อให้มีความชื้นในปริมาณที่พอดี แต่ถ้าหากยังแห้งอยู่ก็ใส่น้ำเปล่าลงไปอีก หลังจากนั้นก็ทำการตักปุ๋ยใส่ไว้ในภาชนะหรือกระสอบ โดยที่ไม่ต้องปิดปากถุง เพื่อให้สามารถระบายความร้อนของปุ๋ยได้ หรืออาจจะกองไว้บนแผ่นไม้ที่มีหลังคากันแดดกันฝนก็ได้เช่นกัน โดยให้กองไว้เป็นภูเขา เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 วัน ก็จะเห็นว่าปุ๋ยนั้นเริ่มย่อยสลายลง จากนั้นให้หมั่นตรวจสอบไม่ให้ปุ๋ยที่หมักไว้ ขาดความชุ่มชื้น เพื่อให้จุลินทรีย์นั้นสามารถย่อยปุ๋ยขี้ไก่ได้เร็วมากยิ่งขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ก็จะสังเกตเห็นว่าปุ๋ยนั้นมีสีเข้มคล้ายกับดิน และมีลักษณะเป็นผง เมื่อได้ปุ๋ยลักษณะนี้แล้วก็สามารถนำปุ๋ยขี้ไก่ดังกล่าว ไปใช้ในการบำรุงพืชได้เลย
เคล็ดลับการใช้ปุ๋ยขี้ไก่ให้ได้ประสิทธิภาพ
การใช้ปุ๋ยขี้ไก่เพื่อบำรุงพืช และเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินนั้น ควรเลือกปุ๋ยขี้ไก่ที่มีความสะอาด เพื่อป้องกันการนำโรคมาสู่พืชผักที่เราปลูก และปุ๋ยขี้ไก่นั้นจะเหมาะสำหรับพืชที่ปลูกในสภาพไร่ หากนำปุ๋ยขี้ไก่มาใช้เป็นธาตุอาหารให้พืชประเภทนี้ ก็จะช่วยให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับปุ๋ยขี้ไก่แกลบนั้น ควรเลือกใช้ในช่วงฤดูร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้พืชที่ปลูกนั้นได้รับความเสียหาย ส่วนปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดจะต้องเลือกปุ๋ยที่สะอาด และมีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และต้องดูเรื่องนวัตกรรมในการผลิต และการอบฆ่าเชื้อด้วย
ราคาของปุ๋ยขี้ไก่
ราคาของปุ๋ยขี้ไก่ ในปี 2565 ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เช่นเดียวกับปุ๋ยมูลสัตว์อื่นๆ เนื่องจากปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงมาก ทำให้ขี้ไก่มีราคาสูงยิ่งขึ้นไปอีก ปุ๋ยขี้ไก่ในปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ 2 แบบคือ
- แบบขี้ไก่แกลบ ซึ่งนิยมนำไปใช้ทันที โดยไม่มีการแปรรูป ราคาในอดีต ประมาณ 30-40 บาท ต่อกระสอบ
- แบบขี้ไก่ไข นิยมจะนำตากแห้ง แยกวัสดุแปลกปลอมออก แล้วนำไปอัดเม็ด ซึ่งจะมีราคาจำหน่าในอดีต ประมาณ 100-120 บาท ต่อกิโลกรัม
ขี้ค้างคาว หรือมูลค้างคาว
ไนโตรเจน (N) 1.54% ฟอสฟอรัส (P) 14.28% โพเทสเซียม (K) 0.60%
มูลค้างคาวมีธาตุอาหารพืชหลายชนิด เหมาะสำหรับใส่ไม้ผล เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ กล้วยหอม ลำไย และมะม่วง เหมาะสำหรับบำรุงพืชช่วงเวลาติดดอก แต่ปัจจุบันมูลค้างคาวเป็นปุ๋ยที่หายาก จึงมีราคาสูง

* เดิมทีคนรุ่นก่อนบอกไว้ว่า "ขี้หมู บำรุงราก และหัว ขี้วัว บำรุงต้น และใบ ขี้ไก่ บำรุงดอก และผล" ซึ่งเมื่อดูตามปริมาณธาตุอาหารแล้ว ไม่น่าจะถูกทั้งหมดนักนะครับ เพราะในความเป็นจริง การบำรุงพืชแต่ละระยะ ควรดูปริมาณธาตุอาหารใรปุ๋ยคอกแต่ละชนิดเป็นหลัก อีกอย่างมูลค้างคาว ซึ่งมีราคาแพงก็ไม่ได้มีธาตุอาหารมากไปกว่ามูลไก่เลย
ที่มา: บ้านและสวน