กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50
ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2551 ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานเด่นของอาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส และคณะ สถานีวิจัยปากช่อง อันเป็นสถานีที่วิจัยงานทางด้านไม้ผลเขตร้อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกิดจากการคัดเลือกสายพันธุ์กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองที่เก็บรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยปากช่อง กว่า 10 สายพันธุ์ โดยพบว่าสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้นี้มีคุณสมบัติที่เหมาะในการปลูกเพื่อการค้าลักษณะเด่น คือ
- เครือใหญ่ น้ำหนักเครือมากกว่า 30 กิโลกรัม (ไม่รวมก้านเครือ)
- จำนวนหวีมากกว่า 10 หวีจำนวนผลต่อหวีประมาณ 18 ผล
- ผลกล้วยใหญ่อ้วนดี น้ำหนักผลโดยเฉลี่ยประมาณ 140 กรัม ต่อผลไส้กลางไม่แข็ง ออกสีเหลือง เนื้อแน่น
- เมื่อสุกมีความหวานประมาณ 26 องศาบริกซ์
การวิจัยพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรในประเทศไทยได้ปลูกกล้วยน้ำว้า ที่ปลูกแล้วให้เครือใหญ่ คุ้มกับการลงทุน และภาคอุตสาหกรรมของกล้วยน้ำว้าจะได้มีการเติบโต ทั้งนี้ในการปลูกแนะนำให้ขุดหลุมให้มีขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาขึ้นโคนหรือโคนลอยช้าลง สามารถอยู่ได้นานถึง 4-5 ปี แล้วจึงรื้อปลูกใหม่ และควรรองก้อนหลุมด้วยวัสดุอินทรีย์ที่ผ่านการหมักแล้ว และไตรโคเดอร์ม่า เพื่อป้องกันเชื้อรา
คุณสมบัติของหน่อกล้วยน้ำว้าปากช่อง50
หน่อกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 นี้ขุดจากแปลงปลูกระยะ 2 ปี ปลูกในระบบน้ำหยด ให้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก ต้นแม่ไม่มีโรค ปัจจุบันได้ผลิตจำหน่ายแก่เกษตรกรทั่วไป
การนำไปปลูก
เทคนิคของอาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส (ผู้คิดค้นสายพันธุ์) ที่ต้องใส่ใจ ดังนี้
- คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 3.5 เซนติเมตร หากต้นเล็กกว่านี้จะพบปัญหาเรื่องการดูแล และอัตราการตายสูง
- เตรียมแปลงปลูก ระยะ 3×3 หรือ 4×4 เมตร
- ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตร เพื่อให้ระบบรากเดินดี ขึ้นโคนช้า
- ระยะปลูกขึ้นอยู่กับการดูแล ถ้าดูแลดี กอกล้วยใหญ่ ควรปลูกระยะ 4×4 เมตร 1 กอ ควรใว้เพียง 4 ต้นเท่านั้น
- คลุกเคล้าปุ๋ยคอกผสมดินประมาณหลุมละ 2 กิโลกรัม รองก้นหลุมขึ้นมาประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วจึงปลูกต้นกล้วยและกลบบริเวณโคนต้นให้แน่น
- ทำแอ่งดินรอบต้นเพื่อเก็บน้ำรักษาความชื้นของดิน และควรรองก้นหลุมด้วยฟูราดาน หรือเชื้อไตรโคเดอร์ม่าป้องกันเชื้อรา และหนอนกอกล้วยประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อหลุม
- ปลูกเสร็จให้น้ำตามทันทีให้ชุ่มชื้นพอเพียง ไม่เช่นนั้นต้นจะเหี่ยวเฉา ใบแห้งและยุบตัว บางต้นตาย บางต้นแตกต้นใหม่ขึ้นแทนทำให้อายุต้นไม่สม่ำเสมอกัน
- ระยะเดือนแรกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และดินต้องชุ่มชื้นเพียงพอ เป็นเดือนที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก หากเป็นการให้น้ำแบบฝอยหรือมินิสปริงเกลอร์ จะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็ว สามารถสร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดี โอกาสรอดสูงกว่าการลากสายยางรดน้ำ และเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้น
- หลังปลูกได้ 1 เดือน และเดือนที่ 2 ส่วนเดือนที่ 3 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนเดือนที่ 2 และ 3 ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด ปัญหาคือหญ้าขึ้นคลุมต้น ต้องถากหญ้าบริเวณโคนต้น และฉีดยาฆ่าหญ้าพาราควอต ระหว่างแถว ต้องระวังอย่าให้ละอองยาโดนต้นกล้วย จะทำให้ต้นชะงักและตายได้
- เดือนที่ 4 การเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งความสูงและรอบวงต้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดต้นปลูกเริ่มแรก ถ้าสูง 15 เซนติเมตร ขึ้นไป จะโตทันกัน ถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ต้นรอดตายทั้งหมด การดูแลให้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้น
- เดือนที่ 4 และ 5 ส่วนเดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนและงดใส่ปุ๋ยจนกว่าจะแทงปลี ถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้ง จนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยวถึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่
- เดือนที่ 6 หรือ 7 กล้วยเริ่มแทงหน่อ และสะสมอาหารเพื่อการตกเครือเดือนที่ 9 กล้วยเริ่มแทงปลี หรือตกเครือจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับหน่อพันธุ์ที่นำมาปลูก
การดูแล กล้วยน้ำว้าปากช่อง50 นอกจากใส่ปุ๋ยแล้ว ควรตัดใบกล้วยด้วยกรรไกรตัดกิ่ง หรือตะขอตัดใบกล้วย เพื่อให้สวนโปร่ง และแดดส่องถึงโคนต้นได้ดี จะลดการเกิดโรค และป้องกันยุง ได้ดีอีกด้วย
Reviews
There are no reviews yet.