ไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่ เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เป็นเชื้อราที่เป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตปฏิชีวนสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษอีกอย่างคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค
หัวข้อที่สำคัญ
รู้จักจุลินทรีย์ในดินกันหรือยัง?
จุลินทรีย์ในดินนั้นมีหลายชนิด ได้แก่ แบคทีเรีย รา แอคติโนไมซีด สาหร่าย โปรโตซัว โรติเฟอร์ ไมโคพลาสมา และไวรัส เป็นต้น จุลินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญทั้งในแง่การส่งเสริมการเจริญเติบโต และการทำลายพืช กล่าวโดยรวมแล้ว จุลินทรีย์ในดินมีความสำคัญดังต่อไปนี้
- ทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ ให้มีขนาดของโมเลกุลเล็กลง
- มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงรูปของธาตุอาหารพืช เช่น เปลี่ยนจากรูปที่เป็นสารอินทรีย์ ไปเป็นสารอนินทรีย์ เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช ในบางกรณีจุลินทรีย์อาจมีกิจกรรมที่สามารถลดความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชได้
- ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยการสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช
- การตรึงไนโตรเจน จุลินทรีย์หลายชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนได้
- จุลินทรีย์หลายชนิดมีบทบาทในการสร้างกรดอินทรีย์บางชนิด บ้างสามารถสร้างกรดอนินทรีย์ ในปริมาณที่พอเหมาะที่จะละลายแร่ธาตุอาหารพืช และเป็นประโยชน์ต่อพืชต่อไป
- จุลินทรีย์หลายชนิดอาจเป็นเชื้อสาเหตุของโรคพืช ทำความเสียหายให้แก่ผลผลิตได้ ในทางตรง กันข้าม มีจุลินทรีย์หลายชนิดที่ทำหน้าที่กำจัด และยับยั้งการเจริญเติบโตจุลินทรีย์ชนิดอื่น รวมทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช จึงมีผลทำให้การระบาดของโรคพืชบางชนิดลดลงได้
- บทบาทของจุลินทรีย์บางชนิดในดินสามารถผลิต และปลดปล่อยสารปฎิชีวนะ กรณีนี้นำไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ครับ คุณผู้ฟังครับ เราได้ทราบความสำคัญของจุลินทรีย์บ้างแล้ว

จุลินทรีย์ในดินใช้ควบคุมโรคพืชได้นะ
เนื่องจากในดินที่มีจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด แตกต่างกันออกไป การจัดการดินที่ดีและเหมาะสม จะส่งเสริมให้มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชในปริมาณที่มาก หากมีการจัดการที่ไม่ดีแล้ว การสะสมของเชื้อสาเหตุโรคพืชก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้แล้ว สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในดิน เช่น ปริมาณออกซิเจน ธาตุอาหารในดิน อินทรียวัตถุ pH ของดิน อุณหภูมิ และความชื้น ก็เป็นสาเหตุสำคัญในการกำหนดชนิด ปริมาณ และบทบาทของจุลินทรีย์ในดินได้ด้วย
การที่จุลินทรีย์มีคุณประโยชน์มากมายต่อทางการเกษตรเช่นนี้ โดยเฉพาะเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชทั้งทางด้านการควบคุมโรคพืช และการช่วยเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้กับพืชนั้น หน่วยโรคพืชและศาสตร์สัมพันธ์ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัย และเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครปฐม ดำเนินงานวิจัยทางด้านฐานข้อมูลการวินิจฉัยโรคพืช และการใช้จุลินทรีย์ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชในดิน จึงได้ร่วมงานกับอาจารย์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยการใช้จุลินทรีย์เป็นปุ๋ยชีวภาพ และสามารถละลายฟอสเฟตในดินได้ ดังนั้นทางคณะผู้วิจัยเห็นว่าการถ่ายทอดแนวความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ โดยนำผลงานวิจัยมาประยุกต์ ใช้ร่วมกับความรู้และประสบการณ์ นำมาจัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ทางด้านจุลินทรีย์ และการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการควบคุมเชื้อราในดินสาเหตุโรคพืช และปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งจุลินทรีย์ในดิน ที่มีคุณประโยชน์ด้านการเพิ่มปริมาณแร่ธาตุอาหารให้กับพืช ให้แก่เกษตรกร ผู้นำเกษตรกร เจ้าหน้าที่ของ รัฐ ครู อาจารย์จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวความคิดซึ่งกันและกัน หรือถ้ามีปัญหาข้อเสนอแนะ ก็พร้อม ที่จะดำเนินการวิจัยเพื่อตอบหรือแก้ไขปัญหาในทันที เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางด้านการวิจัยต่อไป
โรคพืชจากเชื้อรา ควบคุมและยับยั้งได้ด้วยเชื้อราเช่นเดียวกัน
การปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งพืชผัก พืชสวน พืชไร่ และไม้ดอกไม้ประดับ มักประสบปัญหาพืชแสดง อาการเป็นโรค โดยระบบรากพืชถูกทำลาย ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช ตั้งแต่ระยะต้นกล้า จนกระทั่งเติบโต ให้ผลผลิต พืชจะแสดงอาการรากเน่า หรือโคนเน่า เนื่องจากเชื้อราในดินสาเหตุโรคพืชเข้าทำลาย เช่น เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) หรือเรียกว่าราเมล็ดผักกาด เชื้อราไรซ็อคโทเนีย (Rhizoctonia sp.) เชื้อราพิเทียม (Pythium sp.) เชื้อราฟัยท็อปโทรา (Phytophthora sp.) และเชื้อราฟูซาเรียม (Fusarium sp.) เป็นต้น เมื่อเชื้อโรคพืชเหล่านี้เข้าทำลายระบบรากพืช ทำให้พืชแสดงอาการเหี่ยวแห้ง หรือตายเป็นกิ่ง ๆ จนกระทั่งตายยืนต้นในที่สุด ทั้งนี้พืชจะแสดงอาการเป็นโรครุนแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อสาเหตุของโรค และช่วงระยะการเจริญเติบโตของพืชเป็นสำคัญ นอกจากนี้แล้วเชื้อราสาเหตุโรคพืชในดิน สามารถเป็นโรคกับพืชได้หลายวงศ์
ไตรโคเดอร์มาคืออะไร?
ในปัจจุบันการควบคุมโรคพืชโดยใช้จุลินทรีย์ จะช่วยลดปริมาณและกิจกรรมของเชื้อโรค โดยส่งเสริมพัฒนาการใช้สิ่งมีชีวิต รวมทั้งจุลินทรีย์ที่อยู่ตามสภาพธรรมชาติในดิน และที่ผิวรากพืช ให้สามารถทำลาย หรือยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชลงได้ จนเกิดสมดุลทางชีวภาพ คือการไม่เกิดการระบาดของโรคนั่นเอง โดยเชื่อมั่นได้ว่าจากการปรับปรุงพัฒนาวิธีทางเขตกรรมที่เหมาะสม เพื่อปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวย และส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ หรือเพิ่มความต้านทานของพืชต่อเชื้อโรคนี้ จะสามารถลดระดับการเกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม วิธีที่เป็นที่นิยมปฏิบัติศึกษาทดลองมากที่สุด นั่นก็คือการใช้จุลินทรีย์ในรูปเซลล์ที่มีชีวิตเจริญแข่งขันกับพวกเชื้อโรค ตลอดจนการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการส่งเสริม การเจริญเติบโตของพืช เพื่อให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีที่ประหยัดปลอดภัยไร้มลภาวะ และได้ผลเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีข้อดีที่ว่า จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สามารถเพิ่มปริมาณ และมีชีวิตคงทนอยู่ในดินในระยะเวลาที่นานกว่าสารเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) เป็นเชื้อราที่มีความสามารถที่หลากหลาย ดังนี้
1) แข่งขันการใช้แหล่งอาหารสำหรับการเจริญเติบโต
2) เส้นใยเชื้อรา Trichoderma sp. เจริญพันรัดเส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคพืช โดยแทงทะลุเส้นใยเชื้อโรค และปล่อยน้ำย่อย หรือเอนไซม์ออกมาย่อยผนังเซลล์เชื้อโรค ทำให้เส้นใยสปอร์ และส่วนพักตัวเชื้อโรคแฟบเหี่ยว ไม่สามารถเจริญได้ตามปกติ
3) บางสายพันธุ์สามารถสร้างสารปฏิชีวนะ ออกมายับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืช ส่วนการพัฒนาผลิตและการใช้เชื้อรา Trichoderma sp. ในระยะแรกนั้น เป็นผลงานวิจัยเริ่มต้นจากการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพต่อการควบคุมเชื้อราในดินสาเหตุโรคพืช โดยใช้เมล็ดข้าวฟ่างเป็นวัตถุดิบ มีการใช้แกลบ และรำข้าวผลิตเชื้อรา Trichoderma sp. ในรูปหัวเชื้อสด ต่อมาได้มีการพัฒนาใช้ปลายข้าวเมล็ดข้าวโพด และธัญพืชชนิดอื่น ๆ เป็นแหล่งอาหารในการผลิตเชื้อรา Trichoderma sp. ในรูปหัวเชื้อสด เผยแพร่สู่เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านการเกษตร
กำเนิดที่ไหน เมื่อไหร่?
ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นส่วนผสมอยู่มากขึ้น หรืออาจทำให้พืชได้รับประโยชน์จากธาตุอาหารในดินมากขึ้น อันเนื่องมาจากกิจกรรมของจุลินทรีย์นั้น ๆ มีการศึกษาวิจัยการ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพกันอย่างจริงจังเมื่อนานมาแล้ว คือ ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2510 เน้นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการใช้ประโยชน์จากเชื้อไรโซเบียม ในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม ทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนทางด้านการเกษตร ต่อมาก็มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้เชื้อเร่งปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพทั้งสองชนิดนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปมาก และมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้แล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยปุ๋ยชีวภาพกันอีกหลายชนิด ได้แก่ แหนแดง สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ผงเชื้อไมคอร์ไรซา เป็นต้น มีการผลิตผงเชื้อออกมาสู่ตลาด และเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไปแล้วหลายชนิด ในขณะที่การศึกษาวิจัยก็ยังดำเนินต่อไป เพื่อค้นหาสายพันธุ์จุลินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพสูง และเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน การศึกษาและพัฒนาเกี่ยวกับการนำสารอินทรีย์เหลือใช้ และเศษเหลือจากการแปรรูปผลผลิตทางการ osphobacterin จุลินทรีย์นั้น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์มากมายนะจะบอกให้
เราต่างทราบกันดีว่าในดิน จะมีเชื้ออะโซโตแบคเตอร์แตกต่างกันทั้งชนิด และปริมาณ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของดินและสิ่งแวดล้อม แต่จะพบมากที่สุดในบริเวณรากพืช ปัจจัยหลัก ๆ ที่มีอิทธิพลต่อจำนวนเชื้ออะโซโตแบคเตอร์ในดิน มีอยู่ 2 ประการ คือ
1) การเกื้อกูล และการปฎิปักษ์ต่อกันของจุลินทรีย์
2) ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน จุลินทรีย์หลายชนิดเร่งการเจริญเติบโตของอะโซโตแบคเตอร์ และการตรีงไนโตรเจน ในทางตรงกันข้ามก็มีจุลินทรีย์บางพวก ยับยั้งการเจริญเติบโต และการตรึงไนโตรเจน นอกจากนี้เชื้ออะโซโตแบคเตอร์สามารถสร้างสารซึ่งยับยั้งการเติบโตของราบางชนิดได้ เมื่อทดสอบบนอาหารวุ้นในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้แล้วการเติมอินทรียวัตถุสู่ดิน จะทำให้ปริมาณและการเติบโตรวมทั้งการตรึงไนโตรเจนของเชื้อนี้เพิ่มมากขึ้นได้
ปริมาณฟอสฟอรัสในดิน ที่อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จะมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่มีทั้งหมดในดิน จึงทำให้สารละลายดินมีฟอสฟอรัสในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชยิ่งน้อยลงไปอีก ส่วนใหญ่แล้วฟอสฟอรัสในดิน จะถูกตรึงโดยปฏิกิริยาทางเคมี แล้วไม่ละลาย เช่น ตกตะกอนกับ เหล็ก อลูมินัม แคลเซียมและแมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งละลายได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามในดินมีจุลินทรีย์หลายชนิด ที่มีความสามารถละลายฟอสเฟตจากรูปที่ไม่ละลาย ให้กลายเป็นฟอสเฟตในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ จึงได้มีการนำเอาความสามารถของจุลินทรีย์ในข้อนี้มาใช้ประโยชน์ โดยการใส่จุลินทรีย์ลงดินโดยตรง รวมทั้งการใช้จุลินทรีย์ร่วมกับหินฟอสเฟตบด เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ฟอสเฟตละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้มากขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว มีกลุ่มเชื้อราไมคอร์ไรซาซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลสรุปว่า พืชที่มีเชื้อราไมคอร์ไรซา จะมีการเจริญเติบโตดีกว่าพืชปกติ จึงอาจกล่าวได้ว่าถ้าสามารถนำเชื้อราไมคอร์ไรซา มาใช้ร่วมกับพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตรึงฟอสฟอรัส ดินที่ขาดฟอสฟอรัส หรือดินที่มีฟอสฟอรัสในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้งานได้ ไมคอร์ไรซาจะช่วยดูดฟอสฟอรัสมาให้พืชนำไป ใช้ได้ โดยการซึมผ่านจากเซลล์ของเชื้อราเข้าสู่เซลล์ของรากพืช และพืชนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการเจริญ เติบโตได้
นักวิจัยยังคงทำงานกันต่อไป เพื่อแก้ปัญหาราคาสารเคมีแพง
การที่มีจุลินทรีย์เหล่านี้ทั้งอะโซโตแบคเตอร์ อะโซสไปริลลัม หรือจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตนั้นอยู่ ในบริเวณรากพืช ไม่ว่าจะด้วยการจุ่มราก ชุบราก การคลุกเมล็ด หรือใส่ไปพร้อมกับการปลูกพืช เพื่อให้จุลินทรีย์เหล่านี้อยู่บริเวณรากพืชให้มากขึ้น ความเกื้อกูลกันระหว่างพืชกับจุลินทรีย์ที่มีต่อกันทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตดี ในขณะเดียวกันจุลินทรีย์ ทั้งอะโซโตแบคเตอร์ อะโซสไปริลลัม และจุลิทรีย์ละลายฟอสเฟต ก็ส่งเสริมการ เจริญเติบโตของพืช โดยอะโซโตแบคเตอร์ และอะโซสไปริลลัม สามารถตรึงไนโตรเจนให้ กับพืชได้ ส่วนจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต ก็สามารถละลายฟอสเฟตให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์พืชสามารถนำไปใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วทั้งอะโซโตแบคเตอร์ อะโซสไปริลลัม และจุลินทรีย์ ละลายฟอสเฟตนั้น สามารถผลิตเป็นผงเชื้อและสามารถคลุกลงไปให้กับการปลูกพืชได้ต่อไป
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่ามีจุลินทรีย์หลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้ในทางการเกษตรและเพิ่มผลผลิตของพืชได้หลายชนิด จนสามารถผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ และเผยแพร่สู่เกษตรกรบ้างแล้ว บางชนิดก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพ คงได้แพร่หลายต่อไปซึ่งจะสามารถทดแทนปุ๋ยเคมีลงได้ส่วนหนึ่ง ในทำนองเดียวกับ การศึกษาวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศไทยนั่นเอง
กำเนิดไตรโคเดอร์มา
จากผลการดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึงปัจจุบัน สามารถคัดเลือกเชื้อราไตรโคเดอร์มาจากดินในธรรมชาติได้หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ CB-Pin-01 มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคของพืชเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดได้ ในสภาพแปลงเกษตรกร ทั้งโรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน เช่น โรคเมล็ดเน่า โรคเน่าระดับดิน (โรคกล้ายุบ) รากเน่า หัวหรือแง่งเน่า และโคนเน่า เป็นต้น โรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่เหนือดินไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กิ่ง ผล ใบ หรือดอก เช่น โรคลำต้นไหม้ของหน่อไม้ฝรั่ง โรคแคงเกอร์ของมะนาว โรคราดำของมะเขือเทศ โรคใบปื้นเหลืองและโรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคแอนแทรคโนสของมะม่วงและพริกทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการควบคุมโรครากเน่า ของพืชผักสลัดและผักกินใบต่างๆ ที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร (ระบบไฮโดรโพนิกส์) และจากผลการวิจัยล่าสุดพบว่า การแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนใช้หว่านลงในนาข้าว ช่วยลดการเกิดโรคเมล็ดด่าง เมล็ดลีบ ของข้าวที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิด ตลอดจนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ และน้ำหนักเมล็ด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ด้วย
ผู้วิจัยได้พัฒนาชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาให้อยู่ในรูปผงหัวเชื้อบริสุทธิ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายเชื้อชนิดสดไว้ใช้ได้เองตามต้องการ ด้วยการหุงปลายข้าวให้สุกในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า อัตราปลายข้าว 3 ส่วน น้ำ 2 ส่วน ตักใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ผงหัวเชื้อลงไปเล็กน้อย บ่มไว้ 5-7 วัน ก็สามารถนำเชื้อสดไปใช้ได้ ขณะนี้ได้พัฒนาเชื้อสดดังกล่าวให้เป็นชีวภัณฑ์ในรูปน้ำและรูปผงแห้งผสมน้ำเพื่อใช้พ่นส่วนต่างๆของพืชและพ่นลงดินได้ ผงหัวเชื้อบริสุทธิ์นี้มีสปอร์ของเชื้อในปริมาณไม่น้อยกว่า 100 ล้านหน่วยชีวิต (สปอร์) ต่อผงเชื้อ 1 กรัม สามารถเก็บรักษาได้เป็นระยะเวลานานไม่น้อยกว่า 1 ปีถ้าเก็บไว้ในตู้เย็น (ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส) แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิในห้องปกติ (25-30 องศาเซลเซียส) สามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน
การใช้เชื้อชนิดสด สามารถใช้ได้หลายวิธีตามโอกาสและความสะดวกของเกษตรกร เช่น ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนักสำหรับใส่หลุมปลูก อัตรา 10-20 กรัม (1-2 ช้อนแกง) คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ก่อนการหยอดเมล็ดพืช หรือหว่านลงแปลงปลูก ด้วยอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือใช้ผสมรวมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าโดย ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด+ปุ๋ยอินทรีย์ ผสมร่วมกับดินหรือวัสดุปลูกอัตรา 1: 4 โดยปริมาตร (20%) นำดินหรือวัสดุปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุงหรือกระถางปลูกพืช กรณีของการคลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก สามารถใช้เชื้อสดล้วนๆ อัตรา 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี และถ้าต้องการเชื้อสดในรูปน้ำสามารถใช้เชื้อสดผสมน้ำในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ จะได้เชื้อชนิดน้ำสำหรับใช้พ่น ราด รดลงดิน หรือพ่นส่วนบนของต้นพืช หรือใช้ปล่อยไปพร้อมระบบการให้น้ำใต้ทรงพุ่มของพืช และใช้แช่ส่วนขยายพันธุ์พืช เช่นเมล็ด หัว เหง้า แง่ง ท่อนพันธุ์ ก็ได้ สำหรับเชื้อชนิดแห้งแบบผงได้ทำสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการประยุกต์ใช้กับบริษัทยูนิซีดส์ จำกัด ไปแล้ว

ประโยชน์ของไตรโคเดอร์มา
ถือเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเชื้อราชั้นสูงคือสามารถสร้างสปอร์ขยายพันธุ์แบบใช้เพศได้ ในประเทศไทยมีการคัดเลือกเชื้อสายพันธุ์ดี เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตปฏิชีวนสารทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมาอย่างยาวนาน จึงเป็นสารมหัศจรรย์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืช จึงพอรวบรวมประโยชน์ได้ดังนี้
- ลดปริมาณเชื้อโรคพืช
- แข่งขันและกำจัดเชื้อโรคพืช
- ช่วยให้พืชแข็งแรง มีความต้านทานโรค
- ช่วยเพิ่มการเติบโตของพืชและเพิ่มผลผลิต
- รักษาโรคพืช เช่น รากและโคนเน่า ผลเน่า ใบจุด ใบไหม้ ใบเหี่ยว ราดำ
- ใช้ได้หลากหลายพืชพันธุ์ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ลองกอง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พริก มะละกอ พืชผักทุกชนิด ข้าว ไม้ดอก-ไม้ใบ เป็นต้น
- ช่วยป้องกันและควบคุมเชื้อโรคพืชได้หลายชนิด เช่น โรครากและโคนเน่า ผลเน่า ใบจุด ใบไหม้ ใบเหี่ยว ราดำฯ
หลากหลายชนิดและมีประสิทธิภาพกับพืชต่างๆ ได้แก่
- ไม้ผล : ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ลองกอง เป็นต้น
- ไม้ยืนต้น : ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ฯลฯ
- พืชสวน-พืชไร่ : พริก มะละกอ มะเขือเทศ มะนาว พืชผักต่างๆ รวมทั้งใช้ได้ดีในนาข้าว
- ไม้ดอก-ไม้ประดับ รวมทั้งไม้ใบต่างๆ
ประโยชน์นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน คือ
ประโยชน์ด้านการป้องกันโรคพืช
ประโยชน์ในกลุ่มแรก หรือ ประโยชน์ในการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อรา
- สามารถลดการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิดอื่น ที่เป็นโทษต่อต้นพืช โดยการแย่งสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของราชนิดไม่ดี ดังนั้นจึงทำให้เชื้อราชนิดอื่นไม่สามารถเติบโตได้
- สามารถผลิตเส้นใยที่จะเข้าไปทำลายเส้นใยของราอื่น ที่เป็นต้นตอของโรคพืช โดยการพันรัดและแทง เป็นการทำลายโครงสร้างของเชื้อโรคอื่นไม่ให้ขยายพันธุ์ได้
ประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
สามารถช่วยต้นพืชให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและได้ผลผลิตที่ดี
ในส่วนประโยชน์ในกลุ่มที่ 2 หรือการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชนั้น มีดังนี้
- สามารถช่วยเร่งการย่อยสลายของสารอินทรีย์ในดิน ทำให้ต้นกล้าได้รับสารอาหารมากขึ้น จึงช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรได้เป็นอย่างดี
- ช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากจะเข้าไปป้องกันเชื้อราประเภทอื่นที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า
- จากผลการทดลอง เกษตกรที่ใช้มาตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าที่ได้จะมีความแข็งแรงทนทานต่อโรคและให้ผลผลิตได้ดีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ เชื้อราชนิดนี้

ข้อเสียของไตรโคเดอร์มา
ถึงแม้จะมีประโยชน์มากมาย ก็ไม่วายมีข้อเสียอยู่เช่นเดียวกัน สำหรับข้อเสียทางกายภาพที่เห็นได้เด่นชัด ได้แก่
- ไม่สามารถใช้ในเห็ดได้ หมายถึงเห็ดทักชนิด เพราะเห็ดเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง หากโดนเข้าไปมีแต่เหลืองกับตายอย่างแน่นอน
- ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารเคมีที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้
- จำกัดเวลาในการใช้งาน เนื่องจากเป็นเชื้อทีแพ้ความร้อนได้ง่าย จึงไม่สามารถใช้ฉีดพ่นในช่วงเวลาที่มีแดดจัดได้
- หมดอายุง่าย หากเรานำเชื้อสดมาผสมปุ๋ยคอกทิ้งไว้นานๆ จะไม่เหลือประสิทธิภาพให้ใช้ประโยชน์เลย เพราะเมื่อมีการสะสมความร้อนของปุ๋ยคอก จะทำให้เชื้อเสื่อมประสิทธิภาพได้ จึงควรผสมแล้วใช้ทันทีหากเป็นเชื้อสด หรือผสมแล้วควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิต่ำหากเป็นเชื้อแห้ง แต่ไม่ควรเกิน 1 เดือนเพราะความร้อนของปุ๋ยคอก จะทำให้เชื้อเสื่อมประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้เรายังพบข้อเสียในชนิดของเชื้อแต่ละประเภทอีกด้วย คือ
ข้อเสียของเชื้อสด
- เก็นได้ไม่นาน หลังการขยายเชื้อได้ 7 วัน ถ้าใชไม่หมดเก็บในตู้เย็นได้แค่ 7-15 วันเท่านั้น แต่ถ้าไม่เก็บในตู้เย็น ปริมาณเชื้อที่สามารถใช้งานได้ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว 1 วันผ่านไป ก็แทบจะไม่เหลือเชื้อที่ใช้การได้แล้ว
- ไม่สะดวกในการเก็บรักษา เนื่องจากเชื้อสดที่ใช้ไม่หมดจะต้องเก็บในตู้เย็น ซึ่งเป็นการไม่สะดวกสำหรับใครหลายๆคน ที่ไม่อยากเอาไปเก็บในตู้เย็นให้ปนกับอาหาร
- ถ้าจะใช้เชื้อสด ต้องวางแผนเพื่อผลิต ทำให้เสียเวลา ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าไม่สะดวกเท่าที่ควร
- สถานที่ในการผลิต ต้องเหมาะสมต่อการขยายเชื้อทำให้ เกษตรกรบางท่านไม่มีพื้นที่ในการเพาะขยายเชื้อ
- การใช้เชื้อสด จะให้ผลดีตรงที่น้ำที่กรองได้จากอาหารเลี้ยงเชื้อนั้น มีสารที่สามารถควบคุมเชื้อราได้ทันที และสารเหล่านี้ยังช่วยในเร่งการเจริญเติบโตให้กับพืเชื้อที่อยู่ในรูปผงแห้ง เมื่อนำไปใช้จะต้องรอให้สปอร์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเจริญขยายเชื้อได้
ข้อเสียเชื้อแห้งแบบผง
- ต้องรอให้เชื้อเจริญก่อน ถึงจะสามารถทำงานได้ แตกต่างจากเชื้อสดที่เรากรองเอาไปใช้ ถึงแม้ต้องใช้เวลาประมาณ 2 วันสปอร์ถึงจะเจริญ แต่น้ำที่กรองได้จากการขยายเชื้อสดนั้นมีสารที่เชื้อได้ผลิตออกมา ชึ่งมีอยู่ในน้ำที่เราใช้ล้างเชื้อสดนี่นเอง สารตัวสามารถควบคุมเชื้อราได้ทันที และยังช่วยเร่งการเติบโตให้กับพืชได้อีกด้วย
- ปริมาณและคุณภาพของเชื้อ (สปอร์ที่สามารถเจริญได้นั้น ไม่มากเท่าเชื้อสด)
- เชื้อแห้งแบบผง ที่ไม่เติมสารยืดอายุเชื้อ (สารที่ช่วยรักษาสปอร์ให้มีอายุอยู่ได้นานขึ้น) เมื่อนำมาใช้แทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะแทบจะไม่มีสปอร์ที่สามารถเจริญได้อยู่เลย ดังนั้น การเลือกซื้อเชื้อแห้งแบบผง ต้องดูด้วยว่าผลิตแบบใหน ถ้าเป็นการเลี้ยงขยายเชื้อบนธัญพืชแล้วนำมาบด โดยไม่มีขั่นตอนของการเติมสารยืดอายุเชื้อ โดยปรกติแล้วเชื้อ 1 เดือนหลังการผลิตเชื้อแทบไม่เหลืออยู่แล้ว
- วันที่ผลิตนั้นสำคัญ เพราะเป็นสารชีวภัณฑ์นั่นหมายความว่า มันมีชีวิตครับ จากงานวิจัยพบว่าที่ผ่านขั่นตอนเติมสารช่วยยืออายุจะเก็บได้นานสุด ประมาณ 1ปี ครับ
ข้อเสียเชื้อแห้งแบบน้ำ
- ต้องเก็บในตู้เย็น สำหรับเชื้อที่ไม่ผ่านขั่นตอนการผลิตที่ช่วยยืออายุของเชื้อ
- เก็บได้ไม่นาน ต้องรีบใช้ให้หมดสำหรับเชื้อแบบที่ไม่ผ่านการยืดอายุเชื้อ
จะเห็นได้ว่าทั้งเชื้อแบบผงและน้ำ ต่างก็มีข้อด้อยเหมือนกัน นั่นก็คือ คุณภาพของเชื้อที่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวิธีที่ผลิต การผลิตเชื้อที่ไม่ผ่านการยืดอายุเชื้อ ผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ วันที่ผลิตสำคัญมาก เพราะมีผลต่อคุณภาพของเชื้อโดยตรง มีงานวิจัยเรื่อง อายุของเชื้อที่มีขายในท้องตลาด พบว่าส่วนใหญ่มีเชื้อที่ใช้งานได้น้อย ดังนันเมื่อเกษตรกรนำไปใช้ จึงได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งวิธีการที่ได้ผลดีที่สุด คือการซื้อหัวเชื้อมาขยายพันธุ์ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยทั้งในการลดต้นทุนและได้ประโยชน์มากที่สุดอีกด้วย
เชื้อราที่ว่าแน่ แพ้อย่างราบคาบ

เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii)
ต้นเหตุของโรคกล้าไหม้ โรคราเมล็ดผักกาด โรคโคนเน่า อาการรากเน่าแห้ง
จากการวิจัยในพริกมันบางช้าง พบว่า การแช่เมล็ดในน้ำที่มีเชื้อไตรโคเดอร์มา สายพันธุ์ CB-Pin-01 และ แคลเซียมซิลิเกต ในอัตรา 5 กรัม/ลิตร ช่วยใหร้ะยะเวลาในการเกิดรากเร็วขึ้น
ขณะที่การผสมเชื้อ สายพันธุ์CB-Pin-01 อตัราส่วน 1 กก. ต่อ 100 กก. ในวัสดุปลูกที่ผสมแคลเซียมซิลิเกตแล้ว ในอตัรา 20กก./ไร่ ช่วยให้ต้นกล้าพริกมีเปอร์เซ็นต์การรอด จากการเข้าทำลายของ เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) จากสาเหตุโรคเน่าระดับดิน ได้ถึง 40% และมากกว่าการใช้ เชื้อ สายพันธุ์ CB-Pin-01 หรือแคลเซียมซิลิเกตเพียงอย่างเดียว
อีกทั้งยังสามารถยับยั้งเชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) ที่ปนมากับปุ๋ยคอกได้โดยการผสมไปในปุ๋ยคอกแห้ง ที่ไม่มีโซดาไฟเจือปน แต่หากต้องการใช้ในการกำจัดหรือยับยั้ง เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) ในพืชที่โตแล้วควรใช้ชนิดผงแห้งผสมในปุ๋ยคอก หว่านให้ทั่วถึง แต่หากต้องการใช้ชนิดสด ให้หว่านปุ๋ยคอกก่อน แล้วนำเชื้อสดผสมน้ำฉัดพ่นลงในปุ๋ยคอกอีกครั้ง ในช่วงเวลาเย็น
จากการวิจัยในถั่วฝักยาว พบว่า การทํางานรวมกันของเชื้อรา G. virensกับ เชื้อไตรโคเดอร์มา ในการยับยั้งเชื้อรา S. rolfsii ซึ่งก่อใหเกิดโรคเน่า ระดับดินในต้นถั่วฝกยาว มีประสิทธิภาพสูงถึง 100 %

เชื้อราไรซ็อคโทเนีย (Rhizoctonia sp.)
สร้างแผลคล้ายน้ำร้อนลวกบนใบ บริเวณกลางใบหรือขอบใบ ต่อมาแผลขยายตัวลุกลามและ
เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดและรูปร่างแผลไม่แน่นอนเชื้อราจะแพร่ไปยังใบอื่นที่ติดกันโดยการสร้างเส้นใย
ของเชื้อรายึดใบให้ติดกัน ทำให้เกิดอาการใบแห้งเป็นหย่อม ๆ และใบจะค่อย ๆ ร่วงหล่นลงยังโคนต้นเหลือ
แต่กิ่ง ซึ่งต่อมาจะค่อย ๆ แห้ง ทำให้ต้นทุเรียนเสียรูปทรง และมีการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์
สามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน โดยอาศัยเศษซากพืช และแพร่ระบาดเข้าทำลายพืช ระยะใบอ่อน โดยเฉพาะในช่วงในตกชุก
การใช้ในการกำจัดหรือยับยั้งในต้นที่โตแล้วควรใช้เชื้อชนิดผงแห้งผสมในปุ๋ยคอก หว่านให้ทั่วถึง แต่หากต้องการใช้ชนิดสด ให้หว่านปุ๋ยคอกก่อน แล้วนำเชื้อสดผสมน้ำฉัดพ่นลงในปุ๋ยคอกอีกครั้ง ในช่วงเวลาเย็น

เชื้อราพิเทียม (Pythium sp.)
กรมวิชาการเกษตรสำรวจ รวบรวมและเก็บตัวอย่างโรคพืชที่มีสาเหตุจากรา Pythium spp. จากแหล่งปลูกพืชทั่วประเทศ ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 - กันยายน 2552 ได้ตัวอย่างโรคกล้าเน่า ต้นเน่าของพืชชนิดต่าง ๆ นำมาแยกเชื้อบริสุทธิ์ได้ รา Pythium spp. สาเหตุโรคพืชทั้งหมด 30 ไอโซเลท ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 13 ชนิดพืช ตรวจไม่พบรา Pythium ทุกชนิดพืช ส่วนการเก็บตัวอย่างดินจากแปลงปลูกพืช แปลงเพาะกล้าพืช ไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชไร่จากแหล่งปลูกได้ตัวอย่างดินคะน้า ดินปลูกกวางตุ้งและดินปลูกสตรอแบรี่รวมได้ตัวอย่างดิน 11 ตัวอย่าง แยกได้รา Pythium spp. จากดินปลูกพืชทุกตัวอย่างรวมได้รา Pythium spp. บริสุทธิ์ทั้งหมดจำนวน 41 ไอโซเลท จำแนกเป็นรา Pythium 15 ชนิด คือ P. monospermum สาเหตุโรคกล้าเน่าแตงกวา P. vanterpoolii สาเหตุโรคกล้าเน่ากะหล่ำปลีสีม่วง Pythium Group G สาเหตุโรคต้นเน่าผักกะเฉด โรครากเน่าต้นเหี่ยวสนมังกร Pythium Group HS สาเหตุโรคต้นเน่าผักกะเฉด P. spinosum และ P. rostratum สาเหตุโรคต้นเน่าสตรอเบอรี่ P. indigoferae สาเหตุโรคต้นเน่าผักชี P. middletonii สาเหตุโรคต้นเน่าของต้นขวด P. perplexium สาเหตุโรคต้นเน่ารากเน่าผักไร้ดิน P. tracheiphilum สาเหตุโรคต้นเน่าต้นฤาษีสีแดง และโรครากเน่าต้นเน่ากฤษณา P. irregulare และ P. periplocum สาเหตุโรคต้นเน่าต้นกฤษณา P. intermedium สาเหตุโรคใบเน่าบัวประดับ และ P. aphanidermatum สาเหตุโรคกล้าเน่ามะเขือเทศ และโรคกล้าเน่าลำต้นเน่ามะละกอ และพบในดินคะน้าทุกตัวอย่างจากสุพรรณบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่และเชียงราย และดินกวางตุ้งจากเชียงใหม่และเชียงรายพบรา P. ultimum ส่วนไอโซเลทอื่นๆ อยู่ในขั้นตอนการจำแนกชนิดเชื้อ
โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุหลักของโรคที่เกิดกับราก เกิดจากเชื้อ Pythium spp. เชื้อ Pythium นั้น สามารถเข้าทำลายพืชได้ ตั้งแต่ระยะเพาะกล้าจนโตเต็มที่แล้ว ถ้าเข้าทำลายเมล็ด จะทำให้เมล็ดเน่าและไม่งอกเลย ส่วนที่เพิ่งงอกจะทำลายส่วนโคนต้น ทำให้ต้นกล้าล้มตาย และเกิดรากเน่า ส่วนในกรณีของสลัดผัก บางครั้งเชื้อ Pythium จะเข้าไปทำให้ลำต้นผักแคระแกรนโตช้ากว่าปกติ แต่บางครั้งสังเกตยากเพราะโตช้าเท่ากันหมดทั้งแปลง ทำให้เวลาเก็บเกี่ยวยืดออกไปและส่งผลเสียทางธุรกิจต่อมาโดยไม่รู้ตัว
จากการวิจัย ในการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ เชื้อ Pythium พบในผักที่เป็นโรค และผักที่สมบูรณ์แข็งแรง นั่นหมายความว่า เชื่อ Pythium สามารถที่เจริญอยู่ในระยะฟักตัว แต่เมื่อได้ก็ตามที่เชื้อดังกล่าวได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค หรือเมื่อต้นพืชอ่อนแอก็จะสามารถพัฒนาเป็นระยะก่อโรคได้ จึงพบเสมอว่าโรครากเน่าในผักจะพบมากในช่วงฤดูร้อน และฟาร์มที่มีการจัดการไม่ดีพอ เชื้อ Pythium นั้นมีอยู่หลาย species แต่ในระบบไฮโดรนั้นเจออยู่ 4 ชนิดหลักคือ Pythium aphanidermatum, P. carolinianum, P. group G และ P. group HS
เมื่อพบผักเป็นโรครากเน่าให้เก็บต้นนั้นขึ้นทันที และสำรวจทุกต้นในแปลงและเก็บออกให้หมด เปลี่ยนน้ำปุ๋ยใหม่ทั้งระบบ แล้วเติมเชื้อราไตโครเดอร์ม่าในน้ำปุ๋ย 300 cc ต่อน้ำปุ๋ย 100 ลิตรทุก 3 วัน (ปลูกรอบถัดไปเติมเชื้อราไตโครเดอร์ม่าในน้ำปุ๋ย 150 cc ต่อน้ำปุ๋ย 100 ลิตร ทุก 1 อาทิตย์ จนโรคหยุดระบาด)

เชื้อราฟัยท็อปโทรา (Phytophthora sp.)
ต้นเหตุของโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียน มีอาการใบล่างๆ จะเริ่มเป็นจุดประเหลืองแล้วค่อยๆ หลุดร่วงไป ต้นทรุดโทรมและตาย เกิดอาการเน่าที่โคนต้นหรือกิ่ง จะสังเกตเห็นผิวเปลือกของลำต้นหรือกิ่งคล้ายมีคราบน้ำเกาะติด เห็นได้ชัดในสภาพที่ต้นทุเรียนแห้ง ในช่วงเช้าที่มีอากาศชุ่มชื้นจะมองเห็นหยดน้ำยางสีน้ำตาลแดงไหลออกมาจากรอยแผลแตกของลำต้นหรือกิ่ง และน้ำยางนี้จะค่อยๆ แห้งไปในช่วงกลางวันที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบน้ำจับบนเปลือกของลำต้น เมื่อถากเปลือกของลำต้นบริเวณที่มีคราบน้ำยาง จะเห็นเนื้อเยื่อเปลือกถูกทำลายมีสีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนอาการเน่าที่เกิดกับรากเล็กหรือรากฝอยนั้น เนื้อเยื่อรากจะเปื่อยยุ่ย เมื่อดึงเบาๆ จะขาดออกจากกันได้ง่าย เชื้อรานี้สามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานานหลายปี ในรูปแบบของคลาไมโดสปอร์ (chlamydospores) และเมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสม คือน้ำและความชื้นเพียงพอก็สามารถงอกเป็นเส้นใย สร้างอวัยวะขยายพันธุ์ (sporangium) ซึ่งเป็นที่กำเนิดของซูโอสปอร์ (zoospores) ซึ่งมีหางสามารถเคลื่อนที่ไปตามน้ำเข้าทำลายรากพืช นอกจากนั้นเชื้อโรคยังแพร่ระบาดได้โดยลมพายุ และน้ำท่วมหรือติดไปกับดินปลูก และกิ่งพันธุ์เป็นโรค
การใช้ในการกำจัดหรือยับยั้งในต้นที่โตแล้วควรใช้เชื้อ ชนิดผงแห้งผสมในปุ๋ยคอก หว่านให้ทั่วถึง แต่หากต้องการใช้ชนิดสด ให้หว่านปุ๋ยคอกก่อน แล้วนำเชื้อสดผสมน้ำฉัดพ่นลงในปุ๋ยคอกอีกครั้ง ในช่วงเวลาเย็น

เชื้อราฟูซาเรียม (Fusarium sp.)
ต้นเหตุของโรคใบเน่าดำในผัก และไม้ยืนต้นหลายชนิด และยังผลิตสารพิษ (mycotoxin) ที่เป็นอันตรายแก่มนุษย์และสัตว์ Regulation (EC) No 1126/2007 ในการกำหนดค่าตกค้างสูงสุดของสารในกลุ่ม Fusarium toxins ซึ่งได้แก่ Deoxynivalenol, Zearalenone และ Fumonisins ซึ่งมีการกำหนดระดับค่าตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits : MRLs) ของสารดังกล่าวในข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ข้าวโพด
ลักษณะอาการของโรค คือใบล่างของผักจะเหลืองและเริ่มเหี่ยว สังเกตได้ง่าย คือมีใบล่างเหี่ยวแห้งซีกใดซีกหนึ่ง ทำให้ใบเบี้ยวงอไปข้างที่มีใบแห้งเหี่ยว ต่อมาใบทางซีดนั้นจะเหี่ยวเพิ่มขึ้น และเหี่ยวทั่วต้นในเวลาต่อมา โคนกิ่งหรือต้นพบเส้นใยเชื้อราขึ้นเต็ม
หากพบโรคให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลง กรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง ให้ใช้ ชนิดเชิ้อสด หว่านส่วนผสมเชื้อสดให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่ม อัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือบริเวณโคนต้นพืชที่เกิดโรค อัตรา 10-20 กรัมต่อต้น หรือป้องกันโดย ใช้ในการกำจัดหรือยับยั้งในต้นที่โตแล้วควรใช้ชนิดผงแห้งผสมในปุ๋ยคอก หว่านให้ทั่วถึง แต่หากต้องการใช้ชนิดสด ให้หว่านปุ๋ยคอกก่อน แล้วนำเชื้อสดผสมน้ำฉัดพ่นลงในปุ๋ยคอกอีกครั้ง ในช่วงเวลาเย็น
ผู้คิดค้นและพัฒนา พร้อมให้ความรู้เรื่องนี้แก่เกษตรกร
ผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาและวิธีการใช้ โปรดติดต่อไปยังห้องปฏิบัติการ ควบคุมโรคพืชโดยชีวภาพ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140 โทรศัพท์ 034-281047 หรือ 02-9428200-45 ต่อ 3413, 3406 หรือ 3405