7 ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตเร็ว

7 ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตเร็ว ปลูกที่บ้านดีจริง

7 ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตไวนี้ แนะนำใคร และเพื่ออะไร

สถานการณ์โลกในปี 2565 เป็นช่วงที่ดีกว่าปี 2564 ก็จริง แต่ปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ อีกทั้งยังส่งผลต่อราคาพลังงานให้ถีบตัวสูงขึ้น จนหลายชาติในทวีปยุโรป ต้องเดือดร้อนกันในขณะนี้ และส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ลง ที่เห็นผลชัดเจนแล้วก็คือ ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน ถึงคราวต้องย่ำแย่จนประชาชนหยุดผ่อนบ้านกันในณะนี้ เราทราบกันดีว่า จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของสินค้าเกษตรกรรมของประเทศไทย จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องได้รับผลกระทบแบบ 100%

เมื่อบวกกันเข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจต่างชาติย้ายโรงงานกันอีกระลอก ลูกหลานมีโอกาสตกงานเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2565 ถึงกลางปี 2566 และปุ๋ยเคมีมีราคาแพง ทำให้เกษตรกรกลุ่มที่นิยมสารเคมี ลดปริมาณปุ๋ยลง ส่งผลให้ได้ผลผลิตน้อยลงและราคาขายปลีกในประเทศมีราคาแพงขึ้นไปอีก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปุ๋ยเคมี ที่เกษตรกรใช้กันเป็นประจำนั่นเอง ทำให้จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยกันอย่างหนัก เพราะกระบวนการย่อยสลายปุ๋ยของพืช ช้ากว่าปริมาณที่ใส่ ทำให้ปุ๋ยเคมีตกค้างในดินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะไนโตรเจน ที่พบเจอและเป็นปัญหาในตอนนี้คือ มันสำปะหลังมีปริมาณในโตรเจนเกินค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่หยุดใช้ปุ๋ยเคมีนานแล้ว

ฟาร์มอยู่ดี มีสุข ขอให้คนไทยใช้โอกาสนี้ หันมาปลูกผักกินเอง เหมือนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ของเราทำมาแต่ก่อน ซึ่งหากทำได้ เราจะได้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งสุขภาพดี และมีอาชีพเสริมจากผักที่ทานไม่หมดนำมาแบ่งปันในชุมชนในราคาแบบเอื้ออาทร

หัวข้อที่สำคัญ

7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายได้กินเร็ว

ผักชี ปลูกง่าย ไร้สารพิษ

ผักชี ปลูกง่าย

ปลูกผักชี ด้วยคำแนะนำดีๆ จาก mthai

ผักชีเป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย หากจะปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว ควรเตรียมดินให้ระบายน้ำได้ดี ดินควรมีอินทรียวัตถุสูง พื้นที่ที่ปลูกต้องเป็นพื้นที่ที่มีฝนน้อย อากาศเย็น ในการปลูกเพื่อเอาต้นนั้น ควรปลูกราวเดือนกันยายนถึงปลายตุลาคม เพราะในช่วงนี้ผักชีจะงอกงามได้ดี โดย วิธีปลูกผักชี ปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ดพันธุ์ สามารถปลูกได้ทั้งแบบกระถาง และ แปลงดิน ซึ่งโดยทั่วไปเราจะพบผักชีบนจานอาหารไทยแทบทุกเมนู ผักชีที่มีใบและก้านสวยงามล้วนต้องกำจัดแมลง และโรคด้วยสารเคมีกันมาตลอด เราจึงแนะนำให้ปลูกกินเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากสารเคมีนั่นเอง ผักชี เป็น 1 ใน 7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายได้กินเร็ว ชนิดแรกเลยทีเดียว

  1. หากต้องการ ปลูกในแปลงดิน ควรเตรียมดินด้วยการพรวนดินขึ้นมาตากแดดไว้ก่อนสัก 5-7 วัน แล้วพรวนดินซ้ำอีกครั้งเพื่อให้เพิ่มความร่วนในดิน จากนั้นผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยสดคลุกเคล้ากับแปลงดิน
  2. เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ผักชีมาแล้ว ให้บดเมล็ดผักชีให้แตกออกเป็น 2 ส่วนก่อน (เนื่องจากเมล็ดผักชีมีเปลือกแข็งหนา และมีกลิ่นหอมทำให้นก หนู ชอบมากัดกินทำลาย)
  3. แล้วจึงนำไปแช่น้ำ 1- 3 วัน (แนะนำ การแช่น้ำควรนำผ้ามาห่อไว้ แล้วหาอะไรกดทับให้มิดจมน้ำไปเลย) การบดเมล็ดผักชีจะทำให้ผักชีเจริญเติบโตง่ายและเร็วขึ้น ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ผักชีที่จะนำมาปลูกควรเป็นเมล็ดพันธุ์ผักชีที่ใหม่เพราะเมล็ดพันธุ์ผักชีเก่าที่เป็นราปลูกยังไงก็ไม่ขึ้น
  4. เมื่อแช่เมล็ดพันธุ์ผักชีแล้ว นำไปผึ่งลม เมื่อเมล็ดพันธุ์ผักชีเริ่มงอกก็นำไปหว่าน (ก่อนการนำเมล็ดพันธุ์ผักไปหว่านควรรดน้ำให้ชุ่มแปลงดิน) แล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์ผักไปหว่าน และคลุมด้วยฟางข้าวบางๆ เพื่อป้องกันต้นอ่อนจากแสงแดดและรักษาความชุ่มชื้นของแปลงดิน
  5. สำหรับ การปลูกแบบหว่านนั้น หลังจากเมล็ดงอกแล้วควรถอนแยกให้ได้ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 10-20 เซนติเมตร เป็นระยะที่เหมาะสมกับการให้ผลผลิตสูงสุด และจะทำให้ผักชีแตกพุ่มสมบูรณ์ แต่ถ้าหากใช้เมล็ดพันธุ์ในหว่านค่อนข้างมาก ก็ควรถอนแยกให้เหลือระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 5-10 เซนติเมตร
  6. การรดน้ำและการกำจัดวัชพืช ผักชีเป็นผักที่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง แต่อย่ารดน้ำมากเกินไป เพราะผักชีไม่ชอบน้ำขัง จะทำให้ผักชีเน่าง่าย ส่วนการกำจัดวัชพืชควรกำจัดอย่างทันที โดยใช้มือถอนได้เลย เพราะวัชพืชจะเป็นตัวแย่งน้ำจากผักชีทำให้ผักไม่เจริญเติบโต
  7. การใส่ปุ๋ย แนะนำให้ใส่ปุ๋ยหมักหลังจากผักชีแตกใบแล้ว
  8. หลังจากนั้นประมาณ 40-45 วัน ผักชีจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ก่อนการเก็บเกี่ยวควรรดน้ำให้ชุ่มแปลงดินเพื่อให้ถอนผักชีได้ง่ายขึ้นทำให้ต้นผักชีไม่ขาด ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวผักชีทำได้ด้วยการใช้มือจับที่โคนรากแล้วถอนดึงขึ้นมา แล้วสะบัดดินออก แล้วน้ำไปล้างน้ำ คัดใบสีเหลืองหรือใบที่เน่าออก

เคล็ดลับในการปลูกผักชี

  1. นำเมล็ดผักซีมาแช่น้ำ 1 คืน จากนั้นกรองเอาเมล็ดผักซีด้วยตะแกรง
  2. นำเมล็ดผักซีมาผึ่งลมให้แห้ง
  3. นำเมล็ดผักซีใส่ถุงพลาสติกเพื่อทำการบดเมล็ด โดยใช้ไม้ หรือ วัตถุของแข็ง ทุบเบาๆ เพื่อให้เมล็ดผักชีแตก
  4. นำเมล็ดผักซีมาปลูกลงในกระถางที่เตรียมดินไว้แล้ว หรือปลูกลงในแปลง หรือ หยอดเมล็ดลงในหลุมก็ได้ จากนั้นกลบดินบางๆ ไม่ต้องหนักมาก
  5. ทำการรดน้ำพอให้ชุ่ม โดยรดน้ำวันละ1ครั้ง (แต่ถ้าดินยังชุ่มน้ำอยู่ไม่ต้องรดก็ได้) หลังจากนั้น 3-4 วัน เมล็ดผักชีก็จะเริ่มงอก
  6. เมื่ออายุได้ 7-10 วัน เริ่มให้ปุ๋ยผักชี 7 วัน/ครั้ง (ปุ๋ยขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว เป็นต้น)
  7. เมื่อครบอายุ 30-45 วัน ก็สามารถเก็บต้นผักชี นำไปบริโภคได้

ใครปลูกแล้วสวยงอกงาม ให้ผลผลิตดี จะส่งผักชีขายหรือส่งออกนอกไปญี่ปุ่นก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ที่ญี่ปุ่น ผักชี ถือว่าเป็นผักยอดฮิต เพราะเขามองว่ามีประโยชน์มากมายที่ดีต่อสุขภาพด้วย นิยมนำไปทำอาหาร ทำเมนูขนม เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม ฯลฯ ถ้าเป็นไปได้มาลองปลูกกันเยอะๆ นะ ผักชี เราขอแนะนำให้เปฌนอันดับ 1 ใน 7 สวนครัว ปลูกง่าย โตเร็ว เลยทีเดียว

แตงกวา ถ้าแพ้สารพิษ ต้องคิดปลูกเอง ที่บ้าน

ปลูกแตงกวา กินเองแบบ ง่ายๆ

ปลูกแตงกวากินเองแบบง่าย ๆ by Farm Channel

เป็นผักที่มีแมลงรบกวนเยอะ และเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกขายต่างก็กำจัดแมลงด้วยสารเคมี หากเราปลูกเองได้ก็จะได้ผลผลิตแตงกวา ที่ปลอดสารพิษไว้เก็บกินเอง ถือเป็น 1 ใน 7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายได้กินเร็ว อีกชนิดหนึ่ง วิธีปลูกแตงกวากินเองแบบง่าย ๆ ไม่ว่าคุณจะอยู่บ้าน คอนโด หรืออพาร์ตเมนต์ห้องเล็ก ๆ ก็สามารถนำวิธีปลูกแตงกวาไปปลูกกินเองได้ง่าย ๆ ด้วยอุปกรณ์และวิธีปลูกแตงกวาที่นำมาฝากต่อไปนี้

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  1.  เมล็ดแตงกวา
  2. ดินร่วนปนทรายที่ผ่านการตากแดดมาแล้ว
  3. ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก
  4. กระถางสำหรับปลูกกล้าและกระถางขนาดใหญ่เพื่อลงต้นแตงกวา
  5. ตะเกียบหรือไม้ไผ่ สำหรับทำหลักให้เถาเลื้อยพัน
  6. กรรไกรสำหรับถอนต้นกล้า
  7. ซุ้มไม้ระแนงหรือรั้ว สำหรับคนที่เน้นปลูกในสวน

ขั้นตอนการปลูกแตงกวา

  1. เตรียมเมล็ดแตงกวา เนื่องจากสถานที่ปลูกของแต่ละบ้านอาจจะมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเมล็ดพันธุ์แตงกวาควรเป็นเมล็ดที่มีลักษณะแข็งแรงและสมบูรณ์จึงจะได้ผลดี
  2. เตรียมดินให้พร้อม ดินที่จะนำมาปลูกแตงกวานั้นจะต้องเป็นดินร่วนปนทรายสามารถระบายน้ำได้ดี และจะต้องได้รับสารอาหารจากแสงแดดอย่างเพียงพอ จากนั้นผสมดินกับปุ๋ยหมักในอัตราส่วน  50:50 แนะนำให้ผสมเศษใบไม้ในสวนลงไปด้วย เพื่อปรับสภาพดินให้เหมือนการปลูกลงพื้นดิน
  3. เพาะกล้าในกระถาง นำกระถางขนาดเล็กมาเพาะกล้าก่อน โดยใส่กรวดหรือเศษหินมารองพื้นกระถาง เพื่อให้น้ำระบายออกได้ดีและป้องกันความชื้นที่อาจทำให้เกิดโรครา ต่อมาก็จัดการเทดินที่ผสมปุ๋ยหมักเอาลงไปในกระถาง
  4. ขุดดินลงกล้า ขุดหลุมดินตรงกลางกระถางให้ลึกประมาณ 1.2 เซนติเมตร แล้วนำเมล็ดแตงกวาที่เราเตรียมไว้ใส่ลงในหลุมประมาณ 4-5 เมล็ด วางเรียงให้กระจาย ไม่ควรโรยให้เมล็ดซ้อนทับกัน รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าแฉะ ที่สำคัญต้องสังเกตด้วยว่าน้ำนั้นระบายออกมาได้ดีหรือไม่ด้วย
  5. นำกระถางไปตั้งในที่ที่มีแดด แตงกวาปลูกได้ดีในที่อากาศอบอุ่นไม่ร้อนและไม่เย็นชื้นจนเกินไป ดังนั้นหากใครปลูกในอาคารควรตั้งกระถางเอาไว้ในที่ที่แดดส่องถึง แต่ถ้าปลูกไว้ในสวนให้วางไว้ในที่โล่งและมีแดดส่องถึงก็พอ 
  6. ถอนกล้าย้ายกระถางใหญ่ เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกยาวขึ้นมาประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ถอนต้นกล้าที่สภาพไม่สู้ดีหรืออ่อนแอที่สุดทิ้งไป ให้เหลือเฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงและสภาพดีเอาไว้ 2 ต้นเท่านั้นพอ แต่ต้องถอนอย่างระมัดระวังอย่าให้ไปกระทบต้นที่แข็งแรงเด็ดขาด จากนั้นนำต้นแตงกวาที่ได้ไปปลูกในกระถางที่มีขนาดใหญ่
  7. ปักหลักไว้ให้เถาเลื้อย หากใครที่ต้องการให้ต้นมีขนาดเล็กเป็นทรงพุ่มสำหรับปลูกในอาคารหรือพื้นที่แคบ ให้หาแท่งตะเกียบมาปักลงในดินเพื่อเป็นหลักให้ต้นเลื้อยพัน แต่ถ้าต้องการให้ต้นเถาเลื้อยขึ้นเป็นซุ้มก็ควรจะหาไม้ไผ่อย่างยาวมาปักลงในกระถาง แล้ววางไว้ใกล้ ๆ กับซุ้มไม้ระแนงหรือรั้วที่เราเตรียมไว้ก็พอ ซึ่งวิธีปล่อยเถาเลื้อยนี้จะดีกว่าทรงพุ่มเพราะผลแตงกวาจะตั้งตรงสวยงาม ไม่มีโรค และป้องกันแมลงได้ดีกว่าอีกด้วย

วิธีการดูแล

แตงกวาเป็นพืชที่ชอบน้ำมากและต้องการน้ำถึง 3 ลิตรต่อวัน เวลารดน้ำให้รดอย่างระมัดระวังอย่าให้โดนเถาหรือลำต้นมิเช่นนั้นจะต้นเน่าเอาได้ ทางที่ดีควรจะรดน้ำที่ดินโคนต้นให้ชุ่มและมั่นใจว่ารากนั้นโดนน้ำ หมั่นตรวจเช็กการระบายน้ำให้ดีอย่าให้มีน้ำขัง วางกระถางให้โดนแสงแดดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง หมั่นใส่ปุ๋ย และพรวนดินในช่วงระยะแรก ๆ เพื่อกำจัดวัชพืชเท่านั้นพอ 

ระยะเวลาเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยวแตงกวาหลังจากที่นำเมล็ดลงดินไปแล้วนั้นประมาณ 60 วันขึ้นไป สังเกตให้ผลแตงกวามีความยาวอยู่ที่ 7 เซนติเมตรขึ้นไป ก็เก็บมาประกอบอาหารหรือฝานไปประทินผิวเพื่อความงามได้เลย

หากใครไม่ค่อยมั่นใจกับการเดินเลือกซื้อแตงกวาในซูเปอร์มาร์เกตหรือแผงผักทั่วไปว่าจะมีสารเคมีตกค้างหรือไม่ แนะนำให้ลงมือปลูกแตงกวาเอาไว้กินเองตามวิธีการที่เรานำมาฝากกันเลยดีกว่าค่ะ เพราะปลูกเองกับมือยังไงก็ปลอดภัยไร้สารเคมีมากกว่าอยู่แล้ว แถมยังเป็นผักที่เราแนะนำให้ปลูกสำหรับ 7 ผักสวนครัว ปลูกง่าย และโตเร็วในครั้งนี้

ผักบุ้ง เก็บกินได้ทุกวัน ไม่ต้องแช่ตู้เย็น

6 ขั้นตอนปลูกผักบุ้งที่บ้าน

6 ขั้นตอน ปลูกต้นอ่อนผักบุ้งง่ายๆ เก็บทานได้ ปลูกขายสร้างรายได้เสริม โดย เส้นทางเศรษฐี ออนไลน์

ผักบุ้ง เป็น 1 ใน 7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายได้กินเร็ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea aquatic Forssk หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผักทอดยอด ใน ผักบุ้ง 100 กรัม จะให้พลังงาน 22 กิโลแคลอรี มีคุณค่าโภชนาการ ประกอบด้วย เส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น

โดย ผักบุ้งไทย จะมีวิตามินซีสูงและมีสรรพคุณทางยามากกว่า ผักบุ้งจีน แต่จะมีแคลเซียม และเบตาแคโรทีน (มีวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา) น้อยกว่าผักบุ้งจีน หากรับประทานผักบุ้งสดๆ ที่ปลอดจากสารเคมี จะได้คุณค่าของวิตามินและแร่ธาตุสูง

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เพราะผักบุ้งมีคุณสมบัติไปช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งจะทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไป อาจจะก่อให้เกิดอาการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอได้

สรรพคุณของผักบุ้ง มีหลากหลาย อาทิ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส มีน้ำมีนวล มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย ความแก่ชรา และชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ช่วยป้องกันการเกิดหรือลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็งได้ ช่วยบำรุงสายตา ช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น

ในตำราโบราณ ระบุว่า ต้นสดของผักบุ้งจะนำมาใช้เป็นยาดับร้อน แก้อาการร้อนใน บำรุงโลหิต บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในด้านความจำและการเรียนรู้ให้ดีขึ้น ยอดผักบุ้งช่วยแก้โรคประสาท รากผักบุ้งช่วยแก้อาการเหงื่อออกมาก มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แก้อาการไอเรื้อรัง แก้โรคหืด เป็นต้น

การปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง ที่สามารถเก็บมารับประทานได้หรือนำไปจาหน่ายได้ภายใน 10 วัน ซึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของ 7 ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตเร็ว

เริ่มต้นด้วยการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ 

  1. เมล็ดผักบุ้งหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หรือร้านค้าจำหน่ายวัสดุการเกษตร 
  2. ดินผสมพร้อมปลูก 
  3. กระบะ/กระถาง หรือตะกร้าปลูก ขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ 
  4. ผ้าขนหนู 
  5. น้ำ

วิธีการปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง

  1. แช่เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนในน้ำ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นมาผึ่งทิ้งไว้ 10 นาที
  2. โรยเมล็ดลงบนดิน ผสมไม่หนาแน่นจนเกินไป และโรยดินกลบ ความหนาเท่ากับเมล็ด หรือโรยเมล็ดหนา 1 ชั้นลงบนผ้าขนหนูที่วางบนตะกร้า แล้วนำผ้าปิดด้านบนเมล็ด
  3. ปิดคลุมเมล็ดที่เพาะให้มิด รดน้ำเป็นละอองฝอยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 8-9 วัน โดยระวังไม่ให้ดินแฉะ หรือแห้งจนเกินไป
  4. เมื่ออายุครบ 5 วัน ให้เปิดวัสดุที่ปิดคลุมออก จะเห็นต้นอ่อนมีสีเหลือง
  5. เมื่ออายุครบ 6 วัน ให้นำออกมารับแสง เพื่อสร้างคลอโรฟิลล์ สร้างใบ และยอดอ่อนสีเขียว
  6. อายุ 9-10 วัน สามารถเก็บต้นอ่อนผักบุ้งไปบริโภค หรือจำหน่ายได้

อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง ตามวิธีการที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง

ประเทศไทย หรือ วว. แนะนำดังกล่าวนี้ สามารถปรับลดขนาดได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่ท่านมี ซึ่งจะทำให้ได้ผักสำหรับรับประทานที่ปลอดจากสารเคมี มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยประหยัดรายจ่าย และช่วยเพิ่มรายได้ในครัวเรือน นำไปประกอบอาชีพต่อไป

คื่นช่าย ปลูกง่ายและได้กินเร็ว

คื่นช่าย ปลูกง่าย ประโยชน์เยอะ

วิธีปลูกคื่นช่าย โดย plookphak.com

คื่นช่าย เป็นพืชที่เดิมทีพบอยู่ที่ตามริมน้ำในประเทศ สวีเดน แอลจีเรีย และอียิปต์ และพบบ้างในบางพื้นที่แถบเอเชีย ซึ่งได้มีการนำผักชนิดนี้มาปลูกเมื่อประมาณ ค.ศ. 1542 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการทำยาฟอกโลหิตของชาวจีน และเริ่มนำมาใช้เป็นอาหารเมื่อราวปลายศตวรรษที่ 16 โดยใช้พันธุ์ hellow leaf stock ต่อมามีพันธุ์อื่นๆ มาแทน จึงเลิกนิยมไป ในสมัยที่ใช้รับประทานกันแรกๆ นิยมส่วนที่มีสีเขียว ต่อมากลับนิยมส่วนที่เป็นสีขาว พันธุ์ที่ดีจะมีการแตกแขนงมาก ขึ้นฉ่ายเป็นผักที่มีวิตามิน เอ สูง ก้านใบของต้นจะอวบน้ำ มีรากตื้น ระบบรากเป็นฝอย รากฝอยนี้มีความยาวไม่เกิน 2 นิ้ว ลำต้นโตเต็มที่สูงสุดถึง 2 ฟุต แต่โดยเฉลี่ยจะสูงประมาณ 15 นิ้ว มักนิยมปลูกให้ชิดๆ กัน เพื่อให้ลำต้นสูง และเพื่อเป็นการบังแสงให้กับลำต้นที่มีสีขาว คื่นช่ายจึงเป็น 1 ใน 7 ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตเร็ว อีกชนิดหนึ่งที่เราแนะนำ

การเตรียมปลูกและการปลูกคื่นช่าย

วิธีการปลูกคื่นช่ายนั้นสามารถกระทำได้ 2 วิธี ด้วยกัน คือ

  1. เพาะให้เมล็ดงอกก่อน เมื่อกล้าสูงประมาณ 2-3 นิ้ว จึงทำการย้ายปลูก
    1. หากปลูกแบบวิธีนี้ ต้องเตรียมดินแปลงเพาะให้ละเอียดที่สุด เนื่องจากเมล็ดพันธุ์มีขนาดเล็กมาก โดยเฉลี่ยน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ 1 กรัม จะมีจำนวนเมล็ดประมาณ 2,000-2,200 เมล็ดเลยทีเดียว 
    2. หลังจากเตรียมดินแปลงเพาะให้ละเอียดดีแล้ว ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 ช้อนชาผสมกับทราย 1 ถัง แล้วคลุกให้เข้ากัน หว่านลงในแปลงเพาะขนาดเนื้อที่ 1 ตารางเมตร 
    3. หลังจากหว่านแล้วให้ใช้ฟางแห้งคลุมบางๆ แล้วรดน้ำด้วยฝักบัวฝอยวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น เพื่อให้ดินชุ่มชื้นแต่อย่าให้น้ำขัง 
    4. เมื่อผ่านไปประมาณ 7-10 วัน เมล็ดคื่นช่ายจะงอกเป็นฝอยๆ ในตอนนี้ควรใส่ปุ๋ยสตาร์ทเตอร์รดเพื่อเร่งให้กล้าแข็งแรง 
    5. เมื่อกล้ามีอายุได้ 6-7 สัปดาห์ จะมีลำต้นสูง 3-4 นิ้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมกับการทำการย้ายกล้าเพื่อลงแปลงปลูก
  2. หว่านเมล็ดในแปลงปลูกเลย
    1. สำหรับการปลูกแบบที่สองนี้ ให้เตรียมแปลงปลูกเช่นเดียวกับแปลงเพาะ แต่ในการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้ลดจำนวนลงให้น้อยกว่าการปลูกแบบเพาะกล้าเพื่อให้ง่ายต่อการทำการถอนแยก ซึ่งในการปลูกแบบนี้จะต้องทำการถอนแยก ซึ่งให้ทำการถอนแยกโดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 2-3 นิ้ว
    2. หากอยากให้ลำต้นมีสีขาว ก็ควรหุ้มด้วยฟางหรือดิน หรือตีไม้เป็นกรอบรอบๆ ต้น ให้แต่ละส่วนของใบโผล่ขึ้นมา 1 ส่วน 4 ของความสูงของลำต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนล่างโดนแสง การบังแสงนี้จะทำประมาณ 3 สัปดาห์ จึงเอาออก ก็จะทำให้ได้ก้านใบขาว กรอบ หากไม่ทำการบังแสง ก้านใบจะมีสีเขียวจัด

การดูแลรักษาคื่นช่าย

  1. หลังจากการย้ายกล้าลงแปลงใหม่ๆ ควรทำร่มเงาบังแสงแดดอยู่ประมาณ 3-4 วัน โดยค่อยๆ เปิดให้โดนแสงมากขึ้นทีละน้อยๆ จนกระทั่งต่อมาเปิดให้โดนแสงได้ตลอดวัน ในช่วงกลางคืนจะได้รับความชื้นจากบรรยากาศเต็มที่ คื่นช่ายไม่ชอบอากาศร้อนจัด ดังนั้นหากปลูกในฤดูร้อน ควรบังแสงแดดไว้ตลอดวัน จะทำให้ผักงามมาก
  2. การให้น้ำควรรดน้ำทั้งตอนเข้าและตอนเย็น แต่ในการรดน้ำตอนเย็นต้องระวังอย่าให้น้ำขังแฉะ เพราะจะทำให้มีเชื้อราเข้าทำลายได้ 
  3. น้ำที่ใช้รดควรเย็น เพราะผักนี้ชอบความเย็น 
  4. ส่วนการให้ปุ๋ยนั้นมักใช้สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 โดยใช้ในอัตรา 30-50 กิโลกรัม / ไร่ และควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเสริมในอัตรา 10-20 กิโลกรัม / ไร่ โดยเริ่มใส่เมื่อกล้ามีอายุได้ 10-15 วัน และปุ๋ยไนโตรเจนนั้นควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง โดยใส่แบบหว่าน

การเก็บเกี่ยว

  • หากปลูกโดยการย้ายกล้า ให้เริ่มนับวันหลังจากการย้ายกล้าไปประมาณ 50 วัน ถึงจะเริ่มทำการเก็บเกี่ยวได้ 
  • โดยในการเก็บนั้นให้เก็บแบบวันเว้นวัน ด้วยการถอนเก็บทั้งต้น ลักษณะของต้นในระยะเก็บเกี่ยวควรอวบอ้วน สีเขียวอ่อนใส กรอบ 
  • ใช้เวลาการเก็บเกี่ยวทั้งหมด 30-45 ครั้ง หรือต้องเก็บให้หมดภายในระยะเวลาประมาณ 90 วัน เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานกว่านี้จะทำให้ผักเป็นเสี้ยน เหนียว ไม่น่ารับประทาน

คื่นช่ายเป็น 1 ใน 7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายได้กินเร็ว ก็จริงอย่าลืมเตรียมแปลงให้ดี เพราะมีแมลงรบกวนอยู่มากพอประมาณนะ

พริก ผักสวนครัว ที่ต้องมีไว้ติดครัว

ปลูกพริกกินเองในบ้าน

เรื่องง่ายๆ กับการปลูกพริกกินเองในบ้าน โดย เทคโนโลยีชาวบ้าน

วิถีการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ล้วนแล้วแต่เร่งรีบ มีเวลาว่างก็เพียงนิด แต่มีกิจกรรมที่กำหนดไว้มากมาย การปลูกผักไว้รับประทานเองภายในบ้าน ก็เป็นอีกวิถีที่คนเมืองนิยมทำกัน แต่ในที่นี้ คงขอเอ่ยเฉพาะ “พริก”

พื้นที่ในคอนโดมิเนียม หรือ อพาร์ทเม้นท์ หากต้องการปลูกพริก คงมีพื้นที่บริเวณระเบียงเท่านั้นที่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง

สำหรับบ้านขนาดเล็กที่พอจะมีส่วนที่เป็นดินไว้สำหรับจัดสวน ปลูกต้นไม้ ก็เป็นเรื่องดี เพราะจะสามารถจัดพื้นที่ปลูกสำหรับไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ และอื่นๆ เป็นสัดส่วนได้ แต่ถ้าบริเวณบ้านไม่เหลือส่วนที่เป็นดินไว้บ้าง ก็คงต้องอาศัยกระถางหากต้องการปลูกต้นไม้

อย่างที่ขึ้นต้นเนื้อเรื่องไว้ว่าขอหยิบยกมาเฉพาะตัวเอก คือ พริก ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในพืชผักสวนครัว ในแต่ละครัวเรือนถ้าต้องทำกับข้าว ส่วนประกอบของอาหารในบางมื้อก็น่าจะมีพริกอยู่ไม่น้อย ฉะนั้น การปลูกพริกในบ้าน ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ใกล้ตัว หากทำได้ก็ไม่ต้องควักกระเป๋า ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีก

สิ่งที่ควรมีอันดับแรก คือ 

  1. เมล็ดพันธุ์พริกสำหรับปลูก ถ้าไม่คิดอะไรมาก เมล็ดพันธุ์พริกที่วางขายทั่วไปตามร้านขายต้นไม้ หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ก็มีจำหน่ายในราคาซองละ 15-20 บาท แต่ถ้าไม่สะดวกซื้อ ต้องการเพาะต้นกล้าพริกเองก็สามารถทำได้ เริ่มจากการนำเม็ดพริกที่มีอยู่แล้วในครัว สดหรือแห้งก็ไม่สำคัญ แต่ขอให้พริกเม็ดนั้นแก่จัด เพราะจะเป็นเมล็ดพริกที่พร้อมขยายพันธุ์
  2. การเพาะให้ต้นกล้าพริกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากการเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดพริก โดยหาวัสดุใส่ดินสำหรับเพาะ ใช้กระถางก็ได้ ส่วนดินซื้อได้ตามร้านต้นไม้ ถุงละ 20-35 บาท ขึ้นกับความสมบูรณ์ของดิน นำดินที่ได้มาทำให้ขยี้ให้ละเอียด จากนั้นโรยเมล็ดพริกลงดินที่เตรียมไว้ ไม่ควรโรยให้แน่นหรือใกล้กันจนเกินไป เพราะจะเกิดการแย่งอาหารกัน หรือ รากพันกัน ทำให้แยกต้นไปปลูกลำบาก
  3. หากมีกะบะเพาะ ควรเว้นระยะห่างระหว่างต้นขณะหยอดเมล็ดพริก 5 เซนติเมตร และระหว่างแถว 10 เซนติเมตร
  4. นำเศษฟางหรือหญ้าแห้งมาปิดคลุมหน้าดินไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
  5. นำกระถางไปตั้งตากแดดไว้ เพื่อให้อุณหภูมิที่แสงแดดส่องลงมาทำให้ดินร้อน จะช่วยกระตุ้นให้เมล็ดพริกงอกได้เร็วขึ้นกว่าการตั้งกระถางไว้ในร่ม ให้รดน้ำเช้าและเย็น เพิ่มความชื้นให้กับเมล็ดพริก ภายใน 3-7 วัน จะเริ่มเห็นต้นพริกงอกออกหรือแตกยอดออกมา ขณะที่เห็นเมล็ดพริกงอก มีใบจริง 2-3 ใบ ควรเลือกถอนต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เหลือไว้เฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ไว
  6. ควรดูแลกล้าพริกที่เพาะไว้ในกระถางเพาะประมาณ 1 เดือน หรือมีใบจริงราว 5-6 ใบ จากนั้นจึงค่อยแยกต้นพริก นำไปปลูกยังกระถางที่มีดินมากพอต่อความต้องการของต้นพริก หรือมีธาตุอาหารเพียงพอต่อการปลูกพริก ไม่ควรเลือกกระถางปลูกที่มีขนาดเล็กเกินไป เพราะกระถางขนาดเล็กจะบรรจุดินได้น้อย เมื่อดินปลูกน้อยจะเก็บรักษาความชื้นไว้ได้ไม่นาน
  7. อันที่จริง พริกเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย เพราะมีการระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเป็นด่างของดินระหว่าง 6.0-6.8

หรืออีกวิธีของการเพาะต้นกล้าก่อนนำไปปลูกลงกระถาง คือ การเพาะเมล็ดพริกให้งอกก่อน แล้วนำไปปลูกในกระถาง วิธีเพาะ คือ นำเมล็ดพริกแช่น้ำ แล้วนำผ้าชุบน้ำหมาดๆ ห่อทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน เมล็ดจะงอก แล้วจึงนำลงปลูกในกระถางปลูก ควรใส่ดินเกือบเต็มกระถาง ทำดินให้เป็นหลุมลึกประมาณ 4-6 นิ้ว นำกล้าพริกใส่ลงในหลุมแล้วกลบ

การให้น้ำ ทำได้ดังนี้

  1. ช่วง 3 วันแรก ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  2. ช่วง 4 วันต่อมา ให้น้ำวันละครั้ง
  3. ช่วงสัปดาห์ที่ 2 – สัปดาห์ที่ 4 ให้น้ำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  4. ช่วงสัปดาห์ที่ 5 –สัปดาห์ที่ 7 ให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  5. ช่วงสัปดาห์ที่ 7 ไปแล้ว ให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ การให้น้ำแก่พริก ควรให้ตามสภาพอากาศและดูความชุ่มชื้นของดินประกอบด้วย

แม้ว่าพริกจะเป็นพืชที่ทนแล้งดีกว่าทนน้ำ ในระยะที่พริกเริ่มออกดอก พริกจะต้องการน้ำมากกว่าปกติ หากให้น้ำไม่เพียงพอและอากาศแห้งแล้ง จะทำให้ดอกอ่อน ดอกบาน และผลอ่อนที่เพิ่งติดร่วงได้ นอกจากนี้ ในสภาพที่อากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส จะทำให้พริกเจริญเติบโตได้ไม่ค่อยดี มีการติดดอกต่ำและดอกร่วงในที่สุด การให้น้ำขณะนั้นควรลดลง หรืองดในช่วงที่เริ่มเก็บผลผลิต ทั้งนี้เพราะถ้าน้ำพริกมากเกินไป จะทำให้เม็ดพริกมีสีไม่สวย

การปลูกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน หากต้องการให้พริกเจริญงอกงามดี ควรใส่ปุ๋ยให้กับต้นพริกบ้าง การใส่ปุ๋ยให้กับพริก ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของดินปลูก แต่โดยทั่วไปหากใส่ปุ๋ยคอกในกระถางที่ปลูกไว้รับประทานเองในครัวเรือน ใช้ปริมาณปุ๋ยคอกเพียงหยิบมือก็ได้แล้ว 

ควรใส่ให้กับพริกหลังลงปลูกประมาณ 1 เดือน และไม่ควรใส่ชิดโคนต้น ช่ววเวลาที่ใส่ปุ๋ย จะเป็นช่วงที่พริกเริ่มมีตาดอก (แต่ยังไม่ออกดอก) หลังใส่ปุ๋ย 1-2 สัปดาห์ ควรฉีดปุ๋ยน้ำ เช่น ไบโฟลานให้ทางใบ ซึ่งพริกจะนำไปใช้ได้เร็วขึ้น แต่หากไม่ได้ต้องการผลผลิตพริกมากนัก เพราะนำไปใช้ในครัวเรือนไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยทางใบก็ได้

การพรวนดิน เนื่องจากรากของพริกจะกระจายอยู่ใกล้ผิวดิน จึงควรระวังในการพรวนดิน อย่าให้รากกระทบกระเทือน เพราะจะทำให้พริกชะงักการเจริญเติบโต ต้นพริกจะโค่นล้มง่าย การพรวนดินทำได้สม่ำเสมอ ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ตายตัว

หลังลงปลูกประมาณ 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน ในระยะแรกพริกจะให้ผลผลิตไม่มากนัก แต่จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตามลำดับ เมื่อต้นพริกมีอายุ 6-7 เดือน จะเริ่มโทรมและหยุดให้ผลผลิต แต่ถ้าบำรุงรักษาดี พริกจะมีอายุถึง 1 ปี

เม็ดพริกที่แก่จัด ขั้วจะยังติดอยู่กับต้นได้อีกระยะหนึ่งโดยไม่เหี่ยวหรือเสื่อมคุณภาพ แต่ถ้าเก็บเม็ดพริกจากต้นมาแล้ว การเก็บรักษาพริกให้คงสภาพสดอยู่ได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิการเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้น 95-89 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บพริกให้คงความสดได้นานถึง 40 วัน โดยมีผลเหี่ยวเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ และถ้าอุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส ความชื้น 85-90 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บพริกให้คงความสดได้นาน 8-10 วัน

หากพริกให้ผลผลิตมาก ต้องการเก็บเป็นพริกแห้งไว้รับประทาน ก็ทำได้โดยการเลือกเก็บเฉพาะเม็ดพริกที่แก้จัด มีสีแดง ถ้าเก็บมาแล้วมีบางเม็ดที่ยังไม่แก่ควรนำมาเก็บไว้ก่อนประมาณ 2 คืน เพื่อบ่มให้เม็ดพริกสุกแดง แล้วจึงนำออกตากแดดให้แห้งสนิท ควรเลือกเม็ดพริกที่เน่าทิ้งอยู่เสมอ ควรระวังอย่าให้พริกแห้งถูกฝน เพราะจะทำให้เกิดโรครา

ยังมีวิธีการทำพริกแห้งตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำไปย่างไฟ ทำโดยการย่างพริกไว้บนแผงหรือตะแกรงแล้วสุมไฟข้างล่าง กลับพริกให้แห้งทั่วกัน จะทำให้พริกแห้งเร็วขึ้น เก็บไว้ได้นาน ไม่เสียง่าย

การปลูกและการดูแลรักษา สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพริกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน ทำได้ไม่ยาก แต่หากไม่เริ่ม คงต้องควักกระเป๋าซื้อพริกมารับประทานกันต่อไป และนี่คือ 1 ใน 7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายได้กินเร็ว

ผักสลัด ปลูกง่ายและเหลือขายได้ราคาดี

 มาปลูกผักสลัดกินเองกันเถอะ

8 วิธีปลูกผักสลัดกินเองที่บ้าน-สร้างรายได้ พื้นที่จำกัดก็ทำได้ โดย DDproperty.com 

หากบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ / ทาวน์โฮม หรือแม้แต่คอนโด มีพื้นที่ว่าง ลองปลูกผักสลัดไว้รับประทาน ถือเป็นการใช้พื้นที่ว่างให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยการปลูกผักสลัดนั้นไม่ยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังสามารถพัฒนาไปเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย ลองมาดูวิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ ในบ้านคุณได้ที่นี่

รู้จักผักสลัดมีกี่ประเภท

ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการปลูกผักสลัด รู้หรือไม่ว่าผักสลัดมีด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนโบว์ เรดโบว์ มิซูน่า เรดคอส กรีนคอส บัตเตอร์เฮด กรีนโครอล ผักกาดหอมแดง ผักกาดหอม เรดโครอล ร็อคเก็ต ไวล์ร็อคเก็ต ดูหน้าตาผักสลัดแต่ละชนิด

ปลูกผักสวนครัวในบ้านฉบับมือใหม่

สภาพที่เหมาะกับการปลูกผักสลัด

  1. ดินที่เหมาะกับการปลูกผักสลัด คือ ดินร่วนซุย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีนทรียวัตถุสูง หน้าดินลึก และอุ้มน้ำได้ดีปานกลาง สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินอยู่ระหว่าง 6-6.5 pH
  2. พื้นที่ปลูกควรโล่ง และได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่
  3. เนื่องจากใบผักสลัดมีลักษณะบางจึงไม่ทนต่อฝน ดังนั้นในช่วงฤดูฝนควรปลูกใต้โรงเรือน

วิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ ภายในบ้าน ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองนั้น สามารถทำได้ ดังนี้

  1. เตรียมดิน โดยการปรับพื้นที่ข้างบ้านหรือหลังบ้าน โดยส่วนใหญ่การปลูกผักสลัดสามารถปลูกได้หลายแบบ ในกระถางเพาะกล้า หรือถุงดิน หรือแปลงใหญ่เลยก็ได้ โดยวิธีการเตรียมดินคือ นำดินร่วนมาผสมกับปุ๋ยคอกและขุยมะพร้าว ที่ผสมกันในอัตรา 1:1 จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทิ้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน
  2. นำเมล็ดที่สมบูรณ์ซึ่งหาได้จากหลายช่องทางทั้งร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ หรือซื้อตามร้านออนไลน์ มาปลูกลงในกระถางธรรมดา หรือจะแยกปลูกในกระถางเพาะกล้าหรือถุงดินก่อนก็ได้
  3. ฝังเมล็ด 1-2 เมล็ด ลงในดินลึกประมาณ 4 นิ้ว กลบดินทับบาง ๆ
  4. รดน้ำพอให้ชุ่มแต่ระวังอย่างให้แฉะจนเกินไป
  5. ตั้งในที่ร่มแสงแดดรำไร
  6. เมื่อต้นอ่อนงอก หรือประมาณ 4 วัน หากใช้วิธีเพาะต้นกล้าก็สามารถย้ายมาปลูกในกระถางใหญ่ได้เลย
  7. ตั้งกระถางในที่ที่มีแดดส่องถึง หมั่นรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นเช้า-เย็น และให้สารอาหารแก่พืชด้วยปุ๋ยละลายน้ำ
  8. สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากเพาะเมล็ด ภายใน 40-45 วัน

วิธีปลูกผักสลัดในพื้นที่น้อย

สำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัดอย่างพื้้นที่ซักล้างของทาวน์เฮ้าส์/ทาวน์โฮม หรือพื้นที่ระเบียงในคอนโด หากอยากจะปลูกผักสลัดก็สามารถทำได้ โดยมีวิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ แนะนำเช่นกัน ดังนี้

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปลูกผักสลัดในพื้นที่น้อย

  1. ขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช่แล้ว นำมาทำเป็นกระถางปลูก
  2. กระบอกฉีดน้ำ สำหรับใช้รดน้ำ
  3. กระดาษทิชชู่ ใช้สำหรับเพาะต้นกล้า
  4. แผ่นฟองน้ำ ใช้แทนดิน
  5. สารละลายธาตุอาหาร A และ B (A & B Hydroponics)

วิธีการปลูกผักสลัดในพื้นที่น้อย

  1. ตัดขวดน้ำพลาสติก โดยตัดประมาณเศษ 3 ส่วน 4 ให้หัวขวดน้ำ เป็นเหมือนกรวย และด้านล่างเป็นทรงกระบอกคล้ายกระถาง
  2. จากนั้นให้คว่ำเอาส่วนคอขวดใส่ลงไปในขวดส่วนล่าง จะเป็นเหมือนกรวยที่วางลงกระถาง
  3. มาที่ขั้นตอนการเพาะเมล็ด ให้นำทิชชู่ใส่ลงในภาชนะก้นทึบแล้วราดน้ำให้ชุ่ม
  4. ทำการวางเมล็ดผักลงบนทิชชู่ แบบห่าง ๆ กัน
  5. นำทิชชู่อีกแผ่นมาวางปิดไว้ พร้อมรดน้ำให้ชุ่มตลอดเวลา แต่ระวังอย่าให้แฉะเกินไป
  6. รอเวลาให้เมล็ดเริ่มแตกรากเล็ก ๆ ออกมาให้เห็น
  7. ตัดฟองน้ำให้ได้ทรงสีเหลี่ยมลูกบาศก์ ขนาดเท่ากับคอขวดน้ำที่เราทำกระถาง หรือใหญ่กว่า ใส่เรียงกันในภาชนะมีก้น
  8. ย้ายเมล็ดผักที่มีรากออกมาแล้วมาวางที่ฟองน้ำ ใส่น้ำลงให้ฟองน้ำชุ่มน้ำตลอดเวลา
  9. คอยดูไม่ให้ฟองน้ำแห้งน้ำ เพราะตอนนี้ต้นผักอาศัยเอาน้ำจากฟองน้ำอยู่
  10. ประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อต้นผักเริ่มโตตั้งต้นขึ้นมา มีใบเลี้ยง และมีรากแก้วทะลุฟองน้ำ ทำการย้ายมาวางที่ปากขวดน้ำที่เตรียมไว้ ในกระถางด้านล่างท่านจะต้องใส่น้ำเปล่าลงไปให้น้ำขึ้นมาชิดกับฟองน้ำ เพื่อที่ผักสลัดจะดูดน้ำขึ้นมาได้
  11. ใส่สารละลายธาตุอาหาร A และ B ลงในน้ำเพื่อให้ต้นผักเจริญเติบโตเร็วขึ้น และสมบูรณ์ขึ้น
  12. รอจนผักโต ก็สามารถเก็บรับประทานได้เลย

คุณประโยชน์ของผักสลัด

ผักสลัดปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากกระแสรักสุขภาพ นิยมบริโภคสด ๆ โดยเฉพาะในสลัด หรือเป็นเครื่องเคียงกินกับยำ หรือมักนำมาตกแต่งภายในจานอาหาร

ผักสลัดเป็นพืชที่มีวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินบีอีกหลากหลายชนิด ช่วยบำรุงสายตา ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยแก้ท้องผูก แก้ท้องอืด และแก้ท้องเฟ้อได้ดี

จะเห็นได้ว่าวิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ สามารถทำได้ไม่ว่าจะอาศัยอยู่บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ / ทาวน์โฮม หรือคอนโด นอกจากจะมีผักสด สะอาดไว้รับประทานแล้ว ยังสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ด้วยเช่นกัน

ผักสลัดจึงนับเป็น 1 ใน 7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายได้กินเร็ว

ปลูกผัดสลัดกินเองก็ช่วยรักษ์โลกได้

การปลูกผัดสลัด ไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดในเรื่องของค่าใช้จ่าย และช่วยให้สุขภาพดี ยังมีส่วนช่วยในการรักษ์โลกได้อีกด้วย แต่จะช่วยได้อย่างไรนั้น เราลองมาไล่ดูเป็นข้อ ๆ

  1. ลดอัตราการเดินทางเพื่อขนส่งสินค้าที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  2. แน่นอนว่าในเมื่อเราปลูกเพื่อกินเองภายในครอบครัว ย่อมไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง ที่ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างอีกด้วย

ถั่วงอก ปลูกง่ายและได้กินเร็วที่สุด

ปลูกถั่วงอกกินเอง ไม่เสี่ยงสารพิษ

ปลูกถั่วงอกเองที่บ้านง่ายๆ โดย Lovefitt.com

ถั่วงอก ผักแบบกินต้นอ่อนที่มีประโยชน์ และมีคุณค่าสารอาหารสูง ปลูกง่าย ได้กินไว เพียง 4-5 วันก็สามารถเก็บนำมาทำอาหารได้ แถมหมดห่วงเรื่องสารเคมีปนเปื้อนอีกด้วย

“ถั่วงอก” ถือว่าเป็นผักในกลุ่มต้นอ่อนที่มีประโยชน์มากๆ สามารถปลูกได้จากถั่วแทบทุกชนิด แต่ที่เราคุ้นเคย และกินกันบ่อยๆ เห็นในชามก๋ยวเตี๋ยว ขนมจีน ในผัดไทย หรือนำมาผัดกับเต้าหู้นั้น ก็จะเป็นถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวนี่หล่ะ

ประโยชน์ดีๆ ของถั่วงอก

ถั่วงอก เป็นต้นอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารสูง น้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ มีสารอนุมูลอิสระสูง มีวิตามิน และเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แถมยังย่อยง่าย ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น

ถั่วงอก กินดิบเสี่ยงปนเปื้อน

ถึงถั่วงอกจะเป็นผักที่มีประโยชน์เยอะ แต่ช่วงหลังๆ มานี้ ถั่วงอกกลายเป็นผักต้องระวัง ถ้าหากจะกินแบบดิบๆ เพราะอาจเจอการปนเปื้อนสารฟอกขาวหรือ โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ ได้ เนื่องจากถั่วงอกเป็นต้นอ่อนที่ ช้ำและเปลี่ยนสีเร็ว เมื่อโดนอากาศจะเกิดการออกซิเดชั่น ทำให้สีดูไม่น่ากิน พ่อค้าแม่ค้าบางรายอาจจะใช้ตัวช่วยเป็นสารฟอกขาวหรือ สารฟอร์มาลิน ที่ช่วยให้ถั่วงอกคงความสด กรอบ ขาวได้นานขึ้น

ถั่วงอกปลูกเอง ไม่เสี่ยงแถมสนุก

เมื่อซื้อเค้ากินมันเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ ก็ต้องปลูกเองมันซะเลย เมื่อพูดถึงการปลูก ถั่วงอก เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่เคยทำการบ้าน “ปลูกถั่วงอกส่งคุณครู” (ดักแก่?!?) แบบที่ปลูกบนกระดาษทิชชู ซึ่งหลักการการปลูกถั่วงอกแบบไม่ใช้ดิน ก็เป็นแบบเดียวกัน

ถั่วงอก เป็นต้นอ่อนที่ปลูกง่ายแบบสุดๆ ใช้เวลาเพียงแค่ 4 วันในการปลูกเท่านั้น เราก็จะได้ถั่วงอกที่เราปลูกเองมากินแบบสบายใจแล้ว แถมยังเป็นกิจกรรมสนุกๆ ภายในครอบครัว เป็นบทเรียนเรื่องชีววิทยาให้เด็กๆ ภายในบ้านได้อีกต่างหาก

วัสดุ และอุปกรณ์ ในการปลูกถั่วงอกแบบไร้ดิน

  1. เมล็ดถั่วเขียว ปริมาณกะให้พอเหมาะกับภาชนะปลูก เลือกเมล็ดถั่วเขียวแบบ ออร์เกนิค ได้ยิ่งด
  2. ตะกร้าพลาสติก เลือกที่มีรูมากๆ ระบายน้ำได้ดี
  3. กระสอบป่าน พับ 2 ชั้น เพื่อให้ได้ความหนา
  4. แผ่นพลาสติกทึบแสง สำหรับปิดปากตระกร้า
  5. ผ้าทึบแสง สีเข้มๆ
  6. กระบอกฉีกน้ำ

วันที่ 1 ของการปลูกถั่วงอก

  1. เริ่มจากล้างทำความสะอาดเมล็ดถั่วเขียวก่อน 
  2. เลือกเมล็ดที่ลอยน้ำออก ล้างซัก 1-2 ครั้งก็ได้ 
  3. แช่เมล็ดถั่วเขียวในน้ำประมาณ 4 ชม. เพื่อให้เปลือกด้านอกนิ่ม และแตกออก ช่วยทำให้รากแทงออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรแช่น้ำนานเกินกว่า 6 ชม. เพราะจะทำให้ถั่วเน่าเสียในระหว่างปลูกได้
  4. เมื่อครบเวลาในการแช่ ก็หันมาเตรียมตะกร้าปลูก โดยการนำกระสอบป่านชุบน้ำให้ชุ่ม แล้ววางลงในตะกร้าที่เตรียมไว้ 
  5. นำถั่วเขียวสะเด็ดน้ำออก แล้วเทลงตะกร้า เกลี่ยให้เมล็ดกระจายทั่วทั้งถาด ฉีดน้ำให้ทั่ว แล้วปิดด้วยพลาสติดทึบแสง คลุมด้วยผ้าอีกที ทิ้งไว้ในที่ ที่อากาศถ่ายเทสะดวก การปิดด้วยพลาสติกทึบแสง และคลุมผ้าเป็นการช่วยให้ถั่วงอกขาว ไม่เปลี่ยนสีเป็นสีเขียว

วันที่ 2 รากของถั่วจะเริ่มงอกออกมา

รดน้ำให้ชุ่ม 2-3 ครั้งต่อวัน เมื่อรดเสร็จให้ปิดฝา และคลุมผ้าไว้อย่างเดิม ทิ้งไว้ในที่ ที่อากาศถ่ายเทสะดวก

วันที่ 3 เริ่มเห็นเป็นรูปร่างของถั่วงอกแล้ว

ความสูงเฉลี่ยประมาณ ครึ่งนิ้ว ฉีดรดน้ำให้ชุ่ม 2-3 ครั้งต่อวัน เมื่อรดเสร็จให้ปิดฝา และคลุมผ้าไว้อย่างเดิม หรือเก็บมุมผ้าห่อให้กระชับขึ้น เพื่อเป็นการบังคับให้ถั่วงอกมีความสูงเท่าๆ กัน ทิ้งไว้ในที่ ที่อากาศถ่ายเทสะดวก

วันที่ 4 เป็นถั่วงอกโดยสมบูรณ์

วันนี้ถั่วงอกของเราจะดันแผ่นพลาสติกสูงขึ้น แปลงร่างเป็นถั่วงอกโดยสมบูรณ์ ชึ่งเป็นวันที่สามารถเก็บกินได้แล้ว หรือหากสังเกตว่าถั่วงอกยังไม่โตมากนักก็สามารถทิ้งไว้เพิ่มอีก 1 วันก็ได้ โดยรักษาให้ไม่โดนแสง

การเก็บก็ให้ยกถั่วงอกออกมาทั้งแผ่น รากของถั่วงอก จะยึดกับผ้ากระสอบป่านไว้ นำมีดตัดที่โคนต้น แล้วนำไปล้างในน้ำสะอาด นำเอาเปลือกที่หัวออก เด็ดรากทิ้งไป ส่วนของถั่วงอกที่ยังไม่งอกเต็มที่ หรือไม่ได้ขนาดก็ให้รวบรวมไว้ อาจจะนำไปโรยในดินปลูก ปลูกเป็นต้นถั่วเขียวต่อก็ได้ หรือ จะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักก็ได้อีก ส่วนของผ้ากระสอบที่มีรากก็นำไปล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง และสามารถนำกลับมาปลูกซ้ำได้

บทเรียนจากถั่วงอก

จากการทดลองปลูกถั่วงอกแบบไร้ดินครั้งนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการกะปริมาณให้เหมาะสมกับภาชนะปลูกมีผลต่อขนาดของถั่วงอก ซึ่งการใส่เมล็ดถั่วเขียวลงไปมากๆ เพราะหวังจะได้ถั่วงอกเยอะๆ (ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิด T_T) จะทำให้ถั่วงอกที่ได้มีขนาดเล็ก ไม่อวบ และมีถั่วที่งอกไม่ทันกันเยอะ และที่เดาได้อีกอย่าง คือปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอ คราวหน้าจะต้องมีนัดแก้มืออย่างแน่นอน คอยติดตาม “ปลูกถั่วงอกไร้ดิน Take 2 กันนะ”

ไม่ขาว ไม่อวบแต่อร่อย

ถั่วงอกที่ปลูกเองสีจะไม่ขาวจั๊ว น่าเจี๊ยะ เหมือนที่เค้าขายนะ แต่รสชาติความอร่อย ความกรอบความอร่อย ไม่ต่างกัน

ความสดทำให้อายุยืน

ถั่วงอกที่ปลูกเองจะมีความสดกรอบอยู่ในตู้เย็นได้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่สีจะคล้ำลงเล็กน้อย เวลาเก็บให้นำกระดาษทิชชูครัวห่อไว้ แล้วเก็บใส่ถุงหรือภาชนะที่มีฝาปิด แช่ไว้ในตู้เย็น ช่องปกติ หรือช่อแช่ผักก็ได้

ถั่วงอกโตไม่ทันก็ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า

เมล็ดถั่วเขียวที่โตไม่ทันเพื่อน เอาไปลงแปลงปลูกแล้ว ซึ่งตอนนี้กำลังงอกงามดี ลองลุ้นกันว่ามันจะกลายเป็นเมล็ดถั่วเขียวให้นำกลับมาใช้ปลูกเป็นถั่วงอกได้อีกหรือเปล่า !!??
นี่คือเหตุผลที่แสดงว่า ถั่วงอกเป็น
1 ใน 7 ผักอายุสั้นปลูกง่ายไดกินเร็ว ที่สุด

ปลูกเอง กินเอง ปลอดภัย ไร้สารพิษ

บทความแนะนำให้ปลูก 7 ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตเร็วไว้กินเองนี้ เหมาะสำหรับมือใหม่ ซึ่งเราคัดลอกมาจากผู้แนะนำหลายราย นำมาแบ่งปันเพื่อประโยชน์ในการเอาตัวให้รอดในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงในปีนี้ และฟาร์มอยู่ดี มีสุข มั่นใจว่าหากท่านทำเป็นประจำ จนเกิดความชำนาญท่านจะพบกับทางออกของหลายๆ ปัญหา อย่างแน่นอน

การปลูกผักไว้กินเอง ไม่ใช่เรื่องยากใช่มั้ยล่ะ แต่อย่าชะล่าใจไปนะการปลูกผักทุกชนิด มีโรคและแมลง เป็นศัตรูตัวสำคัญ แต่ใน พ.ศ.นี้ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแล้ว เรามี แบคทีเรีย และสารชีวภาพ หลากหลายสำหรับใช้แก้ปัญหา หรือจะเป็นวิธีกล ที่ใช้กันมาแต่โบราณก็ยังมีประโยชน์อยู่เหมือนเดิม ขออย่างเดียว อย่าเผลอไปใช้สารเคมีเข้าเชียวล่ะ เพราะเราปลูกกินเอง จะเกิดอันตรายขึ้นได้ 

ประโยชน์สูงสุดของการแนะนำ เพื่อต้องการให้ทุกท่านมีสุขภาพดี เลี่ยงการใช้สารเคมี หันมาหาวิธีธรรมชาติ ซึ่งเราก็อยู่ในช่วงกำลังศึกษาเช่นเดียวกับท่าน ทั้งการผลิตปุ๋ย วัสดุปลูก และการปลูก โดยมีหน่ยงานราชการหลายแห่ง เป็นแหล่งเรียนรู้ และนำมาทดลอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มาจำหน่ายแก่เกษตรกร หวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศไทย ไม่พบกับความลำบากยากเข็น เหมือนที่หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกันอยู่ในชณะนี้ ก้าวววไปด้วยกันนะ !!

แชร์ได้นะ!

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Shopping Cart