ปุ๋ยอินทรีย์ สูตรบำรุงต้น และใบ
ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เช่นเดียวกับต้องการแสงแดดและน้ำ พูดง่ายๆ เราต้องใส่ปุ๋ยในไร่นา แปลงผัก สวนสวย พืชผลจึงจะงามดี ปุ๋ยอินทรีย์ เปรียบเสมือนโรงงานแปรสภาพธาตุอาหารที่ในดินให้กลับมาอยู่ในรูปของปุ๋ย ซึ่งรากพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ “ปุ๋ย” กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารสำหรับพืชแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยเม็ด ข้อดีของปุ๋ยเม็ดคืออุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ต้นไม้ต้องการ แต่การปลูกผักโดยใช้ปุ๋ยเคมีในจำนวนมากๆ ก่อให้เกิดสารตกค้างในพืชผักได้เช่นกัน ดังนั้นปุ๋ยอินทรีย์จึงเป็นเหมือนทางออกสำหรับคนรักสุภาพและอยากได้อาหารที่ปลอดภัย วันนี้บ้านและสวนจะพาไปรู้จักชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ว่ามีกี่ชนิด และแต่ละชนิดใช้งานอย่างไรกันบ้าง
ปุ๋ยอินทรีย์ คืออะไร
คือสารประกอบที่ได้จากสิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชจึงชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น
มีปริมาณธาตุอาหารอยู่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี และธาตุอาหารพืชส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไนโตรเจน อยู่ในสารประกอบจำพวกโปรตีน เมื่อใส่ลงไปในดินพืชจะไม่สามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในดิน แล้วปลดปล่อยธาตุอาหารเหล่านั้นออกมาในรูปสารประกอบอินทรีย์ เช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี จากนั้นพืชจึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้
มีลักษณะทางกายภาพได้หลายแบบ เช่น ปุ๋ยเม็ด ปุ๋ยผง และปุ๋ยน้ำ แต่ที่นิยมจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยเม็ด เนื่องจากสะดวกกับเกษตรกรในการนำไปใช้ ทั้งจากการหว่านด้วยมือ หรือใช้กับเครื่องพ่นเม็ดปุ๋ย
ปุ๋ยอินทรีย์มี 3 ประเภทคือ 1) ปุ๋ยคอก 2) ปุ๋ยหมัก และ 3) ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยคอก
ได้จากสิ่งขับถ่ายของสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในรูปของเหลว และของแข็ง ส่วนใหญ่เป็นมูลสัตว์เลี้ยงทางการเกษตร เช่น วัว ไก่ เป็ด และสุกร ทั้งนี้ยังมีมูลสัตว์อื่นๆ อย่าง ปุ๋ยมูลไส้เดือน ปุ๋ยมูลค้างคาว เป็นที่นิยมอีกด้วย ปุ๋ยคอกอุดมไปด้วยสารอาหารที่ต้นไม้ต้องการ มากน้อยตามแต่ชนิดของสัตว์ สามารถใช้ได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง รวมทั้งแบบที่ผ่านกระบวนการอัดเม็ด เพื่อให้ขนย้ายได้สะดวกง่ายต่อการขนส่งได้ด้วย ปุ๋ยคอกช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้พืช ให้ธาตุอาหารพืชในลักษณะต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพนานกว่าปุ๋ยเคมี ช่วยปรับปรุงดินและรักษาหน้าดินได้ ให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี
การนำปุ๋ยคอกไปใช้
ใช้ผสมดิน เป็นวัสดุปลูกร่วมกับอินทรีย์วัตถุอื่นๆ เช่นใบไม้ กิ่งไม้ หากใช้ปุ๋ยคอกสดควรผสมดินเตรียมปลูกแล้วไถกลบทิ้งไว้ 10-15 วันเพื่อให้ปุ๋ยคอกสดคลายความความร้อนซึ่งต้องดึงไนโตรเจนในดินมาใช้ หากใช้กับพืชโดยตรงจะทำให้พืชมีใบเหลือง และตายได้ แต่หากใช้ปุ๋ยคอกแห้ง สามารถผสมดินปลูกได้ทันที หรือโรยรอบโคนต้นสำหรับเพิ่มธาตุอาหารให้ต้นไม้ที่โตแล้ว
ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอีกชนิดหนึ่งที่ได้จากการหมักชิ้นส่วนของพืช วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น หญ้าแห้ง ใบไม้ ฟางข้าว ซังข้าวโพด กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาล และแกลบจากโรงสีข้าว ขี้เลื่อยจากโรงงานแปรรูปไม้ หรือวัตถุดิบเหลือทิ้งที่เป็นสารอินทรีย์บางชนิด เช่น แกลบ ใบไม้ กิ่งไม้ เศษอาหาร เกิดจากนำวัตถุดิบเหล่านั้นมากองรวมกัน รดน้ำให้ชื้น ทิ้งไว้ให้จุลินทรีย์ย่อยสลาย โดยสามารถใช้จุลินทรีย์อื่นๆ อย่าง กากน้ำตาล, E.M. ผสมเพื่อเพิ่มขบวนการย่อย จากนั้นนำไปใช้ปรับปรุงดิน ปุ๋ยหมักมีทั้งแบบแห้งและแบบน้ำที่เกิดวัตถุดิบที่น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ อาทิ กาบกล้วย ผลไม้ พืชอวบน้ำทุกชนิด
การนำปุ๋ยหมักไปใช้
การใช้ปุ๋ยหมักควรพิจารณาชนิดดิน และชนิดพืชด้วย เช่น ดินที่เสื่อมโทรมหรือมีความชื่นต่ำ ก็ควรใส่ปุ๋ยหมักในปริมาณมาก ดังนั้นจึงมีวิธีการใส่ปุ๋ยหมักหลายวิธี
- ใส่ปุ๋ยหมักในการเตรียมแปลงปลูก ในขั้นตอนเตรียมดิน ทั้งปลูกผัก ไม้ผล และไม้ดอกประดับ โดยผสมกับดินร่วนเพื่อให้มีธาตุอาหารสมบูรณ์
- ใส่เป็นปุ๋ยแต่งหน้ารอบโคนต้นไม้ เมื่อพืชเจริญเติบโตแล้วในระยะหนึ่ง เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้พืชที่ปลูก
ปุ๋ยพืชสด
เป็นปุ๋ยที่ได้จากการไถกลบพืชบางชนิด ขณะที่เจริญเติบโตในระยะเริ่มออกดอกถึงระยะดอกบานแล้วคลุกเคล้าลงดิน เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้ดีขึ้น เมื่อซากพืชที่ไถกลบถูกย่อยสลายโดยสมบูรณ์แล้ว จึงค่อยปลูกพืชหลักหรือพืชเศรษฐกิจต่อไป พืชสดที่นิยมปลูกเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้ดิน ได้แก่ ปอเทือง โสนแอฟริกัน พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วเขียว ถั่วลิสง เป็นต้น ประโยชน์จากปุ๋ยพืชสดนั้นช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มไนโตรเจนให้ดิน รักษาปริมาณธาตุอาหารในดินและป้องกันการชะล้างหน้าดินได้
การใช้ปุ๋ยพืชสดในทางเกษตร
พืชที่เหมาะกับปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด ควรเลือกชนิดที่ไถกลบง่ายมีลำต้นเปราะ เติบโตได้ดีในดินเหลว และทนแล้งได้ดีแบ่งปลูกได้เป็น 3 วิธีคือ
- ปลูกพืชสดในพื้นที่แปลงใหญ่ แล้วทำการตัดสับและไถกลบในพื้นที่นั้นเลย
- ปลูกพืชสดแซมในระหว่างร่องพืชหลักที่ทำการปลูก
- ปลูกพืชสดในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วตัดสับเอาส่วนของพืชสดนำมาใส่ในแปลงที่จะปลูกพืชหลักแล้วไถกลบลงไปในดิน
ปุ๋ยอินทรีย์ที่ดี จะต้องประกอบด้วยแร่ธาตุครบทั้ง 13 ชนิดที่พืชต้องการ ดังนี้
แร่ธาตุหลัก ซึ่งพืชต้องการในปริมาณสูงมาก ประกอบด้วย
- ไนโตรเจน (N)
- ฟอสฟอรัส (P)
- โพแทสเซียม (K)
แร่ธาตุรอง ซึ่งพืชต้องการในปริมาณน้อย ประกอบด้วย
- แคลเซียม (Ca)
- แมกนีเซียม (Mg)
- กำมะถัน (S)
แร่ธาตุเสริม ซึ่งพืชต้องการในปริมาณที่น้อยมาก (แต่ขาดไม่ได้) ประกอบด้วย
- เหล็ก (Fe)
- แมงกานีส (Mn)
- โบรอน (B)
- โมลิบดินัม (Mo)
- ทองแดง (Cu)
- สังกะสี (Zn)
- คลอรีน (Cl)
ข้อเด่นที่เหนือกว่าปุ๋ยเคมี คือ
มีอินทรีย์วัตถุ มีธาตุอาหารรอง และจุลธาตุที่จำเป็นต่อจุลินทรีย์ดินและพืช ที่ปุ๋ยเคมีไม่มี นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ยังทำให้ดินมีสภาพเป็นกลาง ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างยาวนานจะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดซึ่งมีผลทำให้มีการละลายแร่ธาตุที่ไม่พึงประสงค์ออกมาให้แก่รากพืช เช่น อะลูมิเนียม ทำให้พืชมีลักษณะแคระแกร็น และเป็นโรคง่าย ปุ๋ยอินทรีย์ยังเพิ่มจำนวนจุลอินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ทำให้ดินมีโครงสร้างโปร่ง ร่วนซุย อ่อนนุ่มอุ่มน้ำ
ข้อด้อย คือ มีธาตุอาหารหลักต่ำกว่าปุ๋ยเคมี และต่ำกว่าปุ๋ยอินทรีย์เคมี ซึ่งผลิตจากการผสมปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีเข้าด้วยกัน ทำให้บางครั้งต้องใช้ในปริมาณมากเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการของพืช
มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์
กรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 กำหนดว่า ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้และจะจำหน่ายต้องมี
- อินทรีย์วัตถุมากกว่าร้อยละ 20
- ค่าการนำไฟฟ้าน้อยกว่า 10 เดซิซีเมนส์ต่อเมตร
- ค่าไนโตรเจนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1
- ค่าฟอสฟอรัส (P2O5) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5
- ค่าโพแทสเซียม (K2O) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5
สูตรนี้ของเรา ดีอย่างไร
ได้จากการหมัก เปลือกมันสำปะหลัง กับมูลวัวนม เป็นเวลา 60 วัน ด้วยการกองทับกันเป็นชั้นๆ แล้วราดด้วยจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จึงทำให้ได้ปุ๋ยที่ย่อยสลายแล้ว และได้ประโยชน์จากมูลวัวนม เต็ม 100% ทั้งกอง
เปลือกมันสำปะหลัง
เป็นผลพลอยได้จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดยมันสำปะหลังสดจะถูกส่งเข้าโรงงานผ่านการชั่ง และวัดปริมาณแป้ง หลังจากนั้นจะถูกส่งเข้าเครื่องร่อนเพื่อแยกดินและทรายออก และจะถูกส่งต่อไปยังเครื่องปอกเปลือกและเครื่องล้างหัวมันสำปะหลัง เศษเปลือกมันจะได้ 0.03 ตันต่อหัวมันสด 1 ตัน จะถูกรวบรวมและเก็บไว้ขายให้เกษตรกรที่จะนำไปเพาะเห็ด
เปลือกมันสำปะหลังเมื่อผ่านกระบวนการผลิตแป้งมันจาก โรงงานยังคงมีเปอร์เซ็นต์ของธาตุอาหารสูง จึงนิยมนำไปหมักเป็นอาหารหยาบสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งธาตุอาหารที่สำคัญมี ดังนี้
- โปรตีน 4.3%
- เยื่อใย 12.0%
- ไขมัน 0.2%
- พลังงานรวม (GE) 2.96 Mcal/kg
เปลือกมันสำปะหลังที่นำมาใช้หมักเป็นปุ๋ย หากนำมาจากโรงงานแป้งมันโดยตรง จะเปียก และมีกลิ่นรุนแรง เราจึงนำมาให้เกษตรกรเพาะเห็ดฟางก่อน หลังจากเก็บผลผลิตเห็ดฟางแล้ว กลิ่นที่เคยมีก็สูญสลายไปหมด จึงนำมาหมักทำปุ๋ย เพื่อใช้ในปัจจุบัน
มูลวัว อุดมไปด้วยไนโตรเจน ช่วยเร่งความสูงพืช
ในปัจจุบันปุ๋ยที่หลากหลายแบบให้ได้เลือกใช้กัน ทั้งปุ๋ยสังเคราะห์ ปุ๋ยจากธรรมชาติ หรือปุ๋ยผสมระหว่างสังเคราะห์และธรรมชาติ ในแต่ละแบบก็จะมีความโดดเด่นและการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน แต่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ปุ๋ยที่ทำมาจากธรรมชาติ และต้องการปริมาณไนโตรเจนปริมาณมาก เพื่อเพิ่มความสูงของต้นไม้อย่างรวดเร็ว ปุ๋ยที่แนะนำก็คือ ปุ๋ยมูลวัว นั่นเอง
มูลวัวนม
เป็นปุ๋ยคอกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมารองพื้นในการปลูกพืชไร่อายุยาว เช่น ยางพารา อ้อย เป็นต้น ช่วยทำให้ดินสามารถเก็บความชื้นได้นานมากกว่าเดิม ซึ่งข้อดีข้อนี้ทำให้พืชสามารถทนร้อนทนหนาวทนแล้งได้ดี และสามารถช่วยฟื้นตัวเร็วอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยปรับค่า pH ให้เป็นกลางในสระน้ำ คลุกเมล็ดพันธุ์พืชในมูลวัวก่อนปลูก เป็นการรักษาไม่ให้มอดแมลงเจาะกิน ปรับปรุงสภาพดินที่เสื่อมโทรม ทำให้ดินมีระบายน้ำได้ดีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยเพิ่มความคงทนให้แก่เม็ดดินเป็นการลดการชะล้าง
K P N ในมูลวัวนม
มูลวัวนมที่ดีนั้นจะต้องมีปริมาณธาตุอาหาร ดังนี้
- ไนโตรเจน (N) ปริมาณ 1.95%
- ธาตุฟอสฟอรัส (P) ปริมาณ 1.76%
- ธาตุโพแทสเซียม (K) ปริมาณ 1.43%
- ธาตุแคลเซียม (Ca) ปริมาณ 1.82%
- ธาตุแมกนีเซียม (Mg) ปริมาณ 0.56%
- ธาตุกำมะถัน (S) ปริมาณ 0.07%
สำหรับปุ๋ยมูลวัวนี้เหมาะกับพืชที่กำลังจะขยายราก เนื่องจากปุ๋ยมูลวัว ประเภทนี้จะช่วยบำรุงรากได้ดียิ่งขึ้น แต่ควรจะใช้เป็นมูลวัวที่ค่อนข้างเก่าหน่อย เนื่องจากมูลวัวที่สด จะทำให้เกิดความร้อนและมีการดึงไนโตรเจนจากดินไปใช้ ทำให้พืชอาจมีอาการใบเหลืองและตายได้ ในการใส่ปุ๋ยมูลวัวจะต้องใช้ไม่เกินเดือนละ 1 ครั้ง เพราะปุ๋ยมูลวัวมีไนโตรเจนเยอะ อาจจะอันตรายแก่พืชหรือต้นไม้ที่ได้ใส่ปุ๋ยเข้าไป
เห็นได้ว่า เมื่อนำเปลือกมันสำปะหลัง ซึ่งมีโปรตีนสูง หมักรวมกับมูลวัวนม ซึ่งมีไนโตรเจนสูง เป็นเวลานานจนย่อยสลายแล้ว จึงช่วยให้พืชใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะมีปฏิกิริยาทางเมีสมบูรณ์แล้ว และพืชจะเร่งราก เจริญเติบโต ได้เร็วกว่าการใส่มูลวัวแห้งเป็นอย่างมาก
สูตรนี้เหมาะกับพืชชนิดไหน
ปุ๋ยสูตรบำรุงต้นนี้ ผลิตขึ้นเพื่อแนะนำให้แก่เกษตรกรที่ปลูกผักใช้เป็นครั้งแรกในปี 2565 จากการแจกจ่ายให้นำไปใช้ เมื่อกลางปี ปรากฏว่า ผักกินใบ ได้ผลดีมาก เช่น ผักบุ้งจีน ใช้เวลาเพียง 15 วัน ผักบุ้งสูงถึง 60 เซ็นติเมตร ต้นเขียว อวบ ใหญ่ จากนั้นจึงแจกจ่าย ไปยังผู้ปลูกผักอื่นๆ ซึ่งได้ผลดี เช่นเดียวกัน
ลูกค้ากลุ่มที่ปลูกไม้กระถาง อย่างกุหลาบ ชื่นชอบ สูตรนี้ ในช่วงเริ่มปลูก เพราะต้นโตเร็วมาก สำหรับกลุ่มผู้ปลูกพืชไร่ และสวนผลไม้ เราไม่กล้ารายงานผล เนื่องจากใช้ในสวนที่มีต้นโตแล้ว จึงไม่อาจสรุปได้ว่า สูตรนี้ให้ผลเป็นเช่นไร
การนำไปใช้
ปุ๋ยสูตรนี้ผ่านการหมักร่วมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดความร้อนอีก สามารถใช้ได้ ดังนี้
- ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก
- ใช้ผสมดินปลูก
- ใช้ใส่บำรุงที่โคนต้น
- ใช้ใส่กระถางได้เลย เพียงรดน้ำให้เกิดความชุ่มชื้น พืชก็จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที
อัตราการใช้ หากใช้รองก้นหลุม ควรใช้อัตรา 1 ลิตร หรือมากกว่า ซึ่งตามหลักทฤษฎี
- การใช้รองก้นหลุม ควรใส่ที่ก้นหลุม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนปลูกจะได้ผลดีที่สุด
- การผสมดินปลูก ควรใช้ในอัตรา ดิน 50% ส่วน ปุ๋ย 50% คลุกเคล้ารวมกัน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนปลูกจะได้ผลดีที่สุด
- การใส่บำรุงโคน (ปุ๋ยอินทรีย์ที่เราผลิต หมักจนย่อยสลายดีแล้ว จึงมีความาร้อนน้อยมาก การนำไปใส่บริเวณโคนต้น จึงควรคลุมด้วย เปลือกมะพร้าวสับ ฟางข้าง หรือเศษหญ้า แล้วรดน้ำให้ชุ่มทันทีหลังทำการใส่ เพื่อควบคุมให้มีความชื้น รวมทั้งไนโตรเจน และธาตุอาหารอื่น จะไหลลงดินได้ง่ายด้วยการนำพาของน้ำ)
- ผักกินใบ ใส่ปริมาณ 0.5-1.0 ลิตร ต่อต้น หรือกอ เดือนละครั้ง
- ผักกินผลหรือเมล็ด ใส่ปริมาณ 1.0-2.0 ลิตร ต่อต้น หรือกอ เดือนละครั้ง
- พืชไร่ ใส่ปริมาณ 10-20 ลิตร ต่อต้น หรือกอ เดือนละครั้ง
- ไม้ผล ใส่ปริมาณ 10-20 ลิตร ต่อต้น หรือกอ เดือนละครั้ง
ประโยชน์สูงสุด ของปุ๋ยอินทรีย์
การหมักจนย่อยสลายดีแล้ว ช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินจากมูลวัวนม และสร้างความร่วนซุยให้ดินจากเปลือกมันป่น ประโยชน์สูงสุดที่ได้คือ การเข้าไปสลายการตรึงธาตุอาหารในดิน ที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของดินที่มีอินทรีย์วัตถุต่ำ
ดินที่มีอินทรีย์วัตถุต่ำ เป็นดินที่เลวแต่สามารถปรับให้เป็นดินดีได้ด้วยการเพิ่มอินทรีย์วัตถุเข้าไปในดินดังกล่าว เกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งปลูกพืชโดยไม่ได้บำรุงดินไว้ล่วงหน้า จะพบปัญหาต้นแคระแกน ใบเหลือง เหี่ยวเฉาเมื่อโดนแดดจัด และไม่ติดผล จึงนิยมเติมปุ๋ยเคมีเข้าไปในดิน เพราะพืชนำไปใช้ได้ทันที เพราะเป็นธาตุอาหารสำเร็จรูป แต่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาด และชนิดของพืช ตัวอย่างเช่น
- ทุเรียน สูงประมาณ 1 เมตร เราสามารถใส่ปุ๋ยเคมีเพียง 1 กำมือ พืชก็จะนำธาตุอาหารที่ใส่ลงไปไปใช้ประโยชน์ได้ทันที และเพียงพอต่อความต้องการ
- หากใส่น้อยเกินไปก็ไม่เพียงพอ ไม่มีผลแตกต่างจากช่วงเวลาก่อนหน้า
- แต่หากใส่ 2 กำมือ พืชสามารถนำไปใช้ได้เพียง 1 กำมือเท่านั้นเอง เพราะขนาดยังเล็กมาก ส่วนที่เหลือจึงถูกตรึงไว้ในดิน และเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในดินไม่ให้ธาตุในดินที่มีอยู่เดิมถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ กลายเป็นโทษแก่ต้นทุเรียน
- หรือหากใส่ปริมาณมากกว่า 2 กำมือ ต้นทุเรียนจะเหี่ยวเฉา มีใบเหลือง ร่วง หล่น และแห้งตาย จากความรุนแรงของสารเคมีที่เราใส่มากเกินไป เข้าไปฆ่าจุลินทรีย์ที่ปลายราก และสร้างรอยแผลแก่รากพืช เชื้อราที่เป็นโทษหลายชนิดที่อยู่ในดินจะรุมทำร้ายรากพืช จนตายในเวลาที่รวดเร็ว
การเติมอินทรีย์วัตถุให้ดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ จะเกิดประโยชน์จากตัวอย่างข้างต้น ในกรณีเราใส่ปุ๋ยเคมี 2 กำมือ พืชนำไปใช้ 1 กำมือ และถูกตรึงไว้ไม่ได้ประโยชน์อีก 1 กำมือ จะได้รับปฏิกิริยาจากจุลินทรีย์ในปุ๋ยอินทรีย์เข้าไปช่วยคลายการตรึงธาตุอาหารเหล่านั้นให้ละลายออกมา และพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ ในราคาถูกกว่าการใส่สารเคมีซ้ำเข้าไป
ผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
อยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์
ฟาร์มอยู่ดี มีสุข มีความสุขทุกครั้งที่เห็นเกษตรกรได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของเรา และเรายินดีส่งตัวอย่างให้ใช้ สำหรับกลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานที่ต้องการทดลองผล ก่อนสั่งซื้อ
นอกจากนี้เรายังทดลองหมักปุ๋ยด้วยสูตรอื่นๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะสูตรบำรุงดอก สูตรบำรุงผล เมื่อมีการทดลองจนเป็นที่พอใจแล้ว เราจะนำมาเสนออีกครั้ง เพื่อเกษตรกรจะได้มีทางเลือกในการผลิตอาหารอินทรีย์ต่อไป